สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดการแถลงข่าวโครงการประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ ห้องออร์คิด บอลรูม โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น โดยมี นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัย เป็นประธานในการแถลงข่าว เวลา ๐๙.๓๐ น.
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดี ที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับนั้น ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก แม้หน่วยงานทางสาธารณสุขจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ในการระวังป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับอย่างต่อเนื่อง ทำให้การระบาดของ โรคพยาธิใบไม้ตับลดลงเป็นลำดับ แต่ ถานการณ์อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีไม่ได้มีแนวโน้มลดลงตาม โรคพยาธิใบไม้ตับอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงควรมีการให้ความรู้ ความเข้าใจในการควบคุมโรคนี้ในทุกระดับ รวมไปถึงการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะแรก
ด้วยเหตุนี้ วช. และ เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ภายใต้ทุนวิจัยโครงการท้าทายไทย ในหัวข้อ “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” (Fluke Free Thailand) โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนหลัก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่า โครงการนี้จะสามารถลดปัญหาพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทยได้อย่างยั่นยืนในอนาคต
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการวิจัยที่มุ่งเป้า ๒๕ กลุ่มเรื่อง ในชื่อโครงการวิจัยท้าทาย ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัยท้าทายไทย โครงการวิจัยตอบสนองนโยบาย/เป้าหมายรัฐบาลและตามระเบียบวาระแห่งชาติ และโครงการความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะท้าทายในประเด็นการวิจัยแล้ว โครงการ “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” นี้ยังอยู่ภายใต้โครงการท้าทายไทย โดยการบริหารทุนในรูปแบบ director โดย รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะต้องทำหน้าที่แทน วช. และ คอบช. ในการบริหารทุนในประเด็นที่ท้าทายให้พยาธิใบไม้ตับหมดไปจากประเทศไทยภายใน ๕ ปี โดยการบูรณาการความร่วมมือของนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ และที่สำคัญคือชุมชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน
นางสาวอนงค์วดี จีระบุตร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เรวัติ น้อยวิจิตร hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445