วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เส้นทางการเรียนรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร มหัศจรรย์แห่งเส้นสายลายศิลป์

จังหวัดพิษณุโลกมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นสถาบันการศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่ไม่ได้มุ่งเพียงการผลิตบัณฑิตเท่านั้น แต่ยังมีหนึ่งพันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีแหล่งเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัยถึง ๓ แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ชีวิต พิพิธภัณฑ์ผ้า และหอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการดำเนินงานของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยนเรศวร ประมาณ ๓๐๐ เมตร ณ พิพิธภัณฑ์ชีวิต พบกับเด็กหญิงปุยฝ้ายยืนคู่กับช้างน้อยใบหม่อนที่พร้อมพาทุกท่านสัมผัสกระบวนการผลิตผ้าฝ้าย ผ้าไหม โดยมีช่างทอผ้าสาวน้อยวัยใส อนงค์ วงศ์สุวรรณ์ ที่รักการทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ คอยแนะนำพร้อมสาธิตกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การปลูกฝ้าย เก็บฝ้าย ตากฝ้าย เลี้ยงไหม สาวไหม การทำเส้นฝ้าย เส้นไหม การย้อมสี ไปจนถึงการทอเป็นผืนผ้าด้วยเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งในแต่กระบวนการยังมีรายละเอียดอันประณีตซับซ้อน บางคนนึกสนุกลองลงมือทำบ้าง แล้วก็ถึงกับอึ้งพร้อมเปรยด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นว่า ซื้อผ้าฝ้าย ผ้าไหมครั้งต่อไปจะไม่ต่อราคาแม้แต่บาทเดียว
กว่าจะเป็นผืนผ้าต้องอาศัยทั้งเวลา ฝีมือ และความอดทน นอกจากนั้นแล้วผ้าแต่ละผืนยังแฝงด้วยคุณค่าและความหมายอันแตกต่าง...ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ล้วนละลานตากับผ้าหลายรูปแบบ หลากชาติพันธุ์ ประกอบด้วยห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา พบกับชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ฉลองพระองค์เหล่านี้ล้วนเป็นต้นแบบของชุดไทยอันหลากหลาย
เป็นต้นกำเนิดของการฟื้นฟู อนุรักษ์และสืบสานผ้าทอไทยให้ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก นอกจากนี้ในห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดายังมีสินค้าลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์ สืบเนื่องมาจากเป็นปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าไหม จากร้านจิตรลดา ต่อด้วยห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไทครั่งและห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าไทดำ เป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมและผ้าโบราณของกลุ่มไทครั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากประเทศลาว สันนิษฐานว่าอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันมีลูกหลานชาวไทครั่งอาศัยอยู่ในหลายจังหวัดแถบภาคเหนือตอนล่าง เช่น พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ผ้ายังมีห้องนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งมีการจัดแสดงผ้าและวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
จากแหล่งสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอไทย มุ่งสู่แหล่งสุนทรียทางศิลปะ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนา และสืบสานงานศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการของหลากหลายศิลปินรุ่นเยาว์ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินระดับชาติ และศิลปินระดับนานาชาติที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันจัดแสดงผลงานเป็นประจำทุกเดือน พร้อมมุมปฏิบัติการทางศิลปะ (Work shop) ที่เคยรองรับศิลปินระดับแนวหน้ากว่า ๑๐๐ คน จาก ๒๔ ประเทศทั่วโลก ในโครงการปฏิบัติการทางศิลปกรรมนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีห้องนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ให้ทุกท่านได้เต็มอิ่มกับผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ เช่น กมล ทัศนาญชลี, ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, เดชา วราชุน, จิตต์ จงมั่งคง, ไพบูลย์ มุสิกโปดก, ปรีชา เถาทอง, ชิต เหรียญ ประชา, ประเทือง เอมเจริญ, นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างการเที่ยวชม พร้อมรับของที่ระลึกกลับบ้าน เช่น ต้นตอฝ้าย ร่วมปลูกฝ้ายและศึกษาจุดกำเนิดของผืนผ้า จากเมล็ดพันธุ์ต้นแรก ณ พิพิธภัณฑ์ชีวิต, ตัดแต่งตุง ตัดกระดาษสีสวยเป็นลวดลายต่าง ๆ สืบสานภูมิปัญญาโบราณที่แฝงด้วยคติความเชื่อ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า, ส่งกลับความประทับใจ ออกแบบโปสการ์ดในแบบฉบับของตัวเอง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร เส้นทางการเรียนรู้มหาวิทยาลัยนเรศวรรอการมาเยือนของทุกท่าน เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของเรา
ติดต่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ งานพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๐๗, ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๑๘ สนุกสนาน สืบสานวัฒนธรรมไทย ได้ความรู้ดีดี มีของที่ระลึกกลับบ้าน พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น