วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
มูลนิธิข้าวขวัญรับรางวัล SVN Award ภาคสังคม ประจำปี 2555
เมื่อวานนี้ อ.อนัญญา (พี่จิ๋ม) อ.พรชัย (ซ้ง) เป็นตัวแทนมูลนิธิ เพื่อเข้ารับรางวัล SVN Award ภาคสังคม ประจำปี 2555 ( Social Venture Network Asia Thailand ) โดยท่านอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะที่ มูลนิธิข้าวขวัญ เป็นโรงเรียนชาวนาที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และเสียสละ ด้วยการเผยแพร่ความรู้ และพัฒนาวิธีเกษตรควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรและชุมชน.....คุณความดีนี้ ขอมอบให้กับลูกศิษย์ข้าวขวัญ ที่ร่วมกันสานต่อแนวคิดระบบการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนสู่ภาคปฏิบัติ จนทำให้ข้าวขวัญเป็นที่รู้จักของคนในสังคม...ขอบคุณจากหัวใจค่ะ
มูลนิธิข้าวขวัญ
ประวัติและเนื้องานขององค์กร
มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าว และพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี
ปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ( ATA )
ปี พ.ศ. 2532 ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE )
ปี พ.ศ. 2541 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงาน และพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามในเขต จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว(Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต. สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัด สุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.อู่ทอง
อ. เดิมบางนางบวช และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายเกษตรทั่วประเทศกว่า 50 เครือข่าย
วัตถุประสงค์ขององค์กร
1.พัฒนาเทคโนโลยีเกษตรทางเลือกแบบมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ การปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าว พืชพื้นบ้าน
การปรับปรุงบำรุงดิน สมุนไพรควบคุมแมลง และวิทยาการทดแทนสารเคมี
2.ส่งเสริมและเผยแพร่แนวความคิด และเทคนิควิธีของเกษตรกรรมทางเลือก
ตลอดจนนำเสนอระบบเกษตรกรรมทางเลือกที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ให้กับเกษตรกรผู้สนใจ
เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้อย่างอิสระ
3.สามารถสร้างความรู้และเทคโนโลยีของตนเอง โดยการผสมผสานความรู้เก่าและความรู้ใหม่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การมีสุขภาวะที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
4.ให้การฝึกอบรมแก่เกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่องค์กรและผู้สนใจเกี่ยวกับกิจกรรมเกษตรกรรมทางเลือกทั้งในและต่างประเทศ
5.รณรงค์ เผยแพร่ ผลการปฏิบัติงาน และข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายรัฐ
ให้สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรกรรมทางเลือก การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าว และพืช โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐ
และเครือข่ายเกษตรทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
เป้าหมายหลัก
ให้เกษตรกรและชุมชน มีการเรียนรู้จากความรู้ภายนอก และการฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น สานสร้างเครือข่ายของผู้ผลิต และผู้บริโภคที่เห็นคุณค่า และความสำคัญกับเรื่องของวิถีชีวิต สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่าง การพัฒนาระบบเกษตรกรรม กับการพัฒนาวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นอย่างรอบด้าน
http://www.khaokwan.org/index.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น