วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
“พิธีบ่วงเซียง”แก้บนลูกเทวดา ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร อู่ทอง สุพรรณบุรี
ราวปี พ.ศ.๒๔๐๐ ชาวอู่ทองได้ค้นพบ “พระวิษณุ”เทวรูปโบราณสมัยทวารวดีซึ่งเป็นหินศิลาแลงแกะสลักลายนูน ลอยน้ำมาติดกับพงหญ้าไม่ห่างจากตลาดอู่ทอง หยุดอยู่แถวริมแม่น้ำ จระเข้สามพันลักษณะของพระวิษณุเป็นแบบเก่าที่สวมหมวกแทนมงกุฎ มี ๔ กรและถือจักรอยู่ในพระกร ชาวบ้านต่างเรียกขานท่านว่า “ท่านเจ้าพ่อพระยาจักร” และได้อัญเชิญมาประดิษฐานบนแท่นบูชา พร้อมทั้งก่อสร้างศาลเจ้าเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้กราบบูชาองค์เจ้าพ่อพระยาจักร
วิถีชีวิตของคนอู่ทองกับ “ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร” เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด เพราะการไปสักการะองค์เจ้าพ่อฯ ไม่ใช่เพียงเพื่อปฏิบัติตามประเพณีนิยมเท่านั้น แต่แสดงถึงสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นอย่างเรียบง่ายในการระลึกถึงความรักที่มีต่อถิ่นกำเนิด บ้านเกิดเมืองนอน ไม่ว่าชาวอู่ทองที่อยู่ในพื้นที่หรือไปประกอบสัมมาอาชีพยังต่างถิ่น เมื่อได้กลับมายังเมืองอู่ทอง มักจะแวะเวียนสักการะอยู่เสมอเพื่อเติมเต็มความสุขทางจิตใจ พรที่ผู้สักการะนิยมคือเรื่องการเรียน สุขภาพ ธุรกิจการงาน แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ การค้าขาย การซื้อขายที่ดิน โดยชาวอู่ทองมักจะนิยมนำรูปองค์จำลองจากศาลเจ้าไปบูชาที่บ้านและร้านค้าเพื่อความเป็นสิริมงคล
ขั้นตอนการไหว้องค์เจ้าพ่อพระยาจักร ใช้ธูป ๑๗ ดอก สำหรับไว้ ๗ จุดสำคัญ (จุดที่ ๑) จุดเทียนสร้างความสว่างไสวในชีวิต (จุดที่ ๒) ไหว้ฟ้าดิน (จุดที่ ๓) ไหว้องค์เจ้าพ่อพระยาจักร (จุดที่ ๔) ไหว้เจ้าที่ (จุดที่ ๕) ไหว้เทพเจ้าทั้งปวง ซึ่งทั้ง ๕ จุดใช้ธูป จุดละ ๓ ดอก (จุดที่ ๖ และ ๗) เป็นทวารบริบาลใช้ธูปจุดละ ๑ ดอก
ของไหว้ที่นิยมใช้แก้บน คือ ขนมจีนน้ำยา/แกงเขียวหวาน สำหรับผู้ที่บนขอพรใหญ่ ๆ มักจะบนด้วยการแสดงงิ้ว ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อพระยาจักร โดยแต่ละปีจะมีการจัด “งานงิ้ว” ๒ ครั้ง คือเดือนมกราคม และพฤษภาคมของทุกปี
ลูกเทวดา
นายศุภชัย เงาวัฒนาประทีป ประธานศาลเจ้าพ่อพระยาจักรเล่าให้ฟังว่า ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรมีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมาแก้บนต่อวันเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ที่บนกับท่านเจ้าพ่อพระยาจักรเป็นขนมจีน ก็สามารถแก้บนได้ทุกวัน ส่วนการแก้บนใน “งานงิ้ว”ซึ่งจัด ๔ วัน ๔ คืน เป็นประจำ ปีละ ๒ ครั้ง ทางคณะงิ้วที่ถูกจ้างมาก็จะอัญเชิญ “ลูกเทวดาไท้จือ” มาด้วย การจัดงานงิ้วจะต้องระบุชื่อเจ้าภาพที่ต้องการจะแก้บนชัดเจนว่าเป็นใครเพื่อให้ทีมงานศาลเจ้าพ่อฯ เชิญเจ้าภาพมาทำ“พิธีบ่วงเซียง”หมายถึง การแก้บนด้วยการจัดให้มีการแสดงงิ้วโดยผู้ที่บนแล้วสำเร็จต้องสวมหมวกเทวดา และอุ้มลูกเทวดาไท้จือเพื่อแก้บนก่อนคณะงิ้วจะแสดง
พิธีช่วงเช้าประกอบด้วยการไหว้เจ้าตอนเช้า การแสดงงิ้วช่วงกลางวัน และการแสดงงิ้วรอบกลางคืน มีการจัดกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ มากมาย เช่น การแสดงโชว์เปลี่ยนหน้ากาก และการแสดงของนักเรียนในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง สำหรับเดือนพฤษภาคม ได้กำหนดงานงิ้วระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เนื่องจากได้ยกระดับการจัดงานเป็น “เทศกาลงานงิ้วและมหกรรมอาหารอร่อย” ณ บริเวณรอบศาลเจ้าพ่อพระยาจักร อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ว่าแล้ว...ท่านประธานศาลเจ้าพ่อ ก็ยกตัวอย่างความสำเร็จของการแก้บนด้วยการแสดงงิ้ว....เดิมทีทั้งท่านและภรรยามีลูกยาก แต่ก็ปลื้มใจที่สุดท้ายได้ลูกแฝด พร้อมกับเอ่ยปากชวนผู้ปฏิบัติงาน อพท. ลองบนด้วยการแสดงงิ้ว....รับรองขออะไรได้ทุกอย่าง ทำเอาคนถูกชวนยิ้มหน้าแดง
ท่านประธานศาลเจ้าพ่อยังยกตัวอย่าง “งานวันเสด็จอู่ทอง” ซึ่งจัดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาว่า ท่านนายอำเภอกังวลเรื่องสภาพอากาศว่าหากฝนตกจะทำให้เสียงาน เพราะพิธีการส่วนใหญ่อยู่ในที่แจ้งทั้งพิธีเปิดและขบวนแห่หัวโต ทางศาลเจ้าพ่อและอำเภออู่ทองจึงจัดเตรียมเครื่องสักการะขึ้นไหว้ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม...ทำให้วันงานวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ผ่านฉลุยเพราะสภาพอากาศเป็นใจ...และว่ากันว่ามีปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดอีกด้วย เพราะขอพร...องค์เจ้าพ่อพระยาจักรแล้วได้ผลสำหรับใครที่บนด้วยการแสดงงิ้วในช่วงวันงาน หากพรใดที่ขอนั้นสำเร็จ... ก็สามารถนัดกับคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อพระยาจักรขอเป็นเจ้าภาพในรอบถัดไป คือช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๗ ได้นะคะ
ส่วนใครที่เดินทางมาท่องเที่ยว......พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๖ ขอเชิญเที่ยว“เทศกาลบะจ่าง” บริเวณศาลเจ้าพ่อพระยาจักร นอกจากนี้ ยังมี“เทศกาลสักการะเจ้าพ่อกวนอู” ณ โรงเจเต่งฮกตั้ว วันที่ ๓๑ กรกฎาคมนี้ และ “สารทจีน”วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๖
********************************************
เล่าเรื่อง/ถ่ายภาพชมพูนุท ธาราสิทธิโชค ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น