วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556
ชาวบางปลาม้า ร่วมใจนำร่อง คก.ประชาธิปไตย ปลอดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง
นายสุเชษฐ์ ธีรัทธานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย นายประพันธ์ บุญคุ้ม กรรมการการเลือกตั้งฯ พ.ต.อ. ชัยรัตน์ ทิพยจันทร์ กรรมการการเลือกตั้งฯ นางสายใจ หมั่นฝึกพันธ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุพรรณบุรี จัดโครงการ หมู่บ้านประชาธิปไตย ปลอดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ณ บ้านไผ่มุ้ง ต.วังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มี นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบงานด้านสืบสวนสอบสวน ให้เกียรติเดินทาง ร่วมงาน
วันจันทร์ ที่ 26 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00 น. นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบงานด้านสืบสวนสอบสวน อดีตดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบเนติบัณฑิตไทย เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 3 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 และอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เดินทาง มาร่วมกิจกรรม โครงการ หมู่บ้านประชาธิปไตย ปลอดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ณ บ้านไผ่มุ้ง ต.วังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพื่อสร้าง โครงการนำร่อง ฯ หมู่บ้านประชาธิปไตย ปลอดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง มี ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ นายสุเชษฐ์ ธีรัทธานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย นายประพันธ์ บุญคุ้ม กรรมการการเลือกตั้งฯ พ.ต.อ. ชัยรัตน์ ทิพยจันทร์ กรรมการการเลือกตั้งฯ นางสายใจ หมั่นฝึกพันธ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมโครงการ
เรวัติ น้อยวิจิตร ข่าว rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ขอบคุณ ภาพจาก ภัทรพล พรมพัก วัฒนพล มัจฉา เดลินิวส์สุพรรณบุรี
ม.นเรศวร จัดนิทรรศการผลงานศิลปกรรม โดย วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
ขอเชิญชื่นชมผลงานศิลปะฝีมือศิลปินระดับนานาชาติ ใน
“นิทรรศการผลงานศิลปกรรม โดย วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ”
ศึกษา ชื่นชมผลงานศิลปะหลากหลายแขนง กว่า ๑๐๐ ชิ้น สะท้อนเรื่องราวมนุษย์กับสังคม และธรรมชาติในจินตนาการ วันที่ ๗ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า “ในวงการศิลปะเป็นที่ยอมรับกันว่า การแสดงศิลปกรรมของศิลปินเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญยิ่ง นอกจากการแสดงศักยภาพของตัวเองแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและผู้สนใจได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ได้ฝึกทักษะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงการแข่งขัน และเล็งเห็นคุณค่าของศิลปกรรมร่วมสมัย ส่งผลให้มีการพัฒนาฝีมือ เพื่อก้าวสู่การเป็นศิลปินในระดับชาติต่อไป”
ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในก้านการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่กิจการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อเพิ่มพูน พัฒนาองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้ในสังคม ด้วยเหตุนี้จึงจัดนิทรรศการผลงานศิลปกรรม โดย วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปกรรมของศิลปิน ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างศิลปินด้วยกันเอง และศิลปินกับผู้ที่สนใจ เกิดเครือข่ายศิลปินและผู้ทำงานด้านศิลปะ เป็นการพัฒนาวงการศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม ”
ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินกล่าวต่อว่า “นิทรรศการผลงานศิลปกรรม โดย วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๗ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ทุกวันจันทร์ – วันเสาร์ ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะของอาจารย์วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ ศิลปินระดับนานาชาติ ประกอบด้วยผลงานวาดเส้น ภาพพิมพ์ สื่อผสม จิตรกรรม และประติมากรรมเซรามิค จำนวนกว่า ๑๐๐ ชิ้น ในหัวข้อ หน้ากาก สะท้อนเรื่องราวมนุษย์กับสังคม และ Dreamscape มุมมองความประทับใจในธรรมชาติ ณ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผ่านความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของตนเอง ทั้งนี้ขอเชิญร่วมพิธีเปิดในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๘
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
ชั้น 3 อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. 0 5596 1143
วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556
เทศบาลเมืองทุ่ม 4 ล้านกล้องวงจรปิดไร้สาย
นายเอกพันธ์ อินทร์ใจเอื้อ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เปิดเผยว่าขณะนี้ปัญหาอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมายทั้งในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองและนอกเขตเทศบาลเมืองส่งผลให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพในเขตเทศบาลเมืองเกรงว่าจะได้รับอันตราย เพราะในเขตเทศบาลเมืองฯไม่เคยหลับใหล ตลอดทั้งคืนมีพ่อค้าแม่ขายประกอบสัมมาอาชีพการค้าขายกันทั้งคืนทั้งวันแต่ก็มีหลายจุดที่เสียงการเกิดปัญหาอาชญากรรม จึงเตรียมดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วพื้นที่เขตเทศบาลเมืองทั้งหมด เพื่อง่ายต่อการติดตามจับกุมคนร้ายเพราะหลักฐานกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานในการแสดงถึงพฤติกรรมการก่อเหตุ และการกระทำผิดถือเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดที่เราจะกระทำได้เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่ตรวจสอบพบว่ามีจุดที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 36 จุด แต่เมื่อตรวจสอบลงลึกแล้วพบว่ามีการซ้ำซ้อนถึง 7 จุดด้วยกันที่มีหน่วยงานอื่นติดตั้งกล้องวงจรปิดอยู่แล้วจึงตัดลง 7 จุดเหลือเพียง 29 จุดเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนและเสียงบประมาณโดยไม่ใช่เหตุ จึงเตรียมงบประมาณไว้จำนวน 4 ล้านเพื่อดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สาย เพราะหลายครั้งที่ผู้กระทำผิดลงมือตัดสายกล้องวงจรปิดหรือทำลายกล้องก่อนก่อเหตุเราจึงตัดไฟแต่ต้นลมโดยใช้กล้องวงจรปิดไร้สาย และสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมงทางอินเทอร์เน็ต นายเอกพันธ์กล่าว
บ้านนักข่าว
สาลี่แม่บ๊วยของฝากจากสุพรรณบุรี
เมื่อพูดถึงของฝากของจังหวัดสุพรรณบุรีก็ต้องนึกถึงขนมสาลี่ แต่ต้นตำหรับสาลี่ของจังหวัดสุพรรณบุรี ก็ต้องสาลี่แม่บ๊วย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เจ้าของสูตรท้าคนชิมได้เลยว่าสาลี่แม่บ๊วยแท้ๆสูตรดั้งเดิมที่นี้เหนียวนุ่ม หอม หวาน ที่สำคัญไม่ติดคอเหมือนสาลี่เจ้าอื่นๆที่กินแล้วจะฝืดคอเป็นสูตรเด็ดที่ใครก็ไม่สามารถเลียนแบบได้อย่างแน่นอนและมีจำหน่ายที่เดียวไม่มีสาขาเพราะทดสดใหม่ทุกวันเรียกว่าใครไม่รู้จักสาลี่แม่บ๊วยแทบไม่มี
นางสาวสมพร หรือเจ๋เล็ก กาญจนจิตต์เจริญ บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 5 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าให้ฟังว่าเดิมบ้านอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีน ทำขนมสาลี่มาตั้งแต่ปี 2485 ประมาณ 70 ปี สมัยก่อนใช้มือตีไข่ใช้เตาฟืนนึ่งขนม และต่อมาเปลี่ยนพัฒนามาใช้เครื่องตีไข่และเปลี่ยนมาใช้เป็นเตาแก๊สแทนเตาฟืนที่สามารถนึ่งได้ครั้งละ 10 ถาด สำหรับสูตรการทำขนมสาลี่แม่เป็นผู้คิดค้นสูตร และเป็นสูตรที่ลงตัวที่สุดและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สมัยก่อนสาลี่ทำกินกับน้ำแข็งใสไม่มีการบรรจุถุงแบบปัจจุบันสาลี่จะเป็นของคู่กับน้ำแข็งใส จนกระทั่งประมาณปี 2513 เริ่มทำใส่ถุงขายที่งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ เพราะมีการนำของดีของแต่ละอำเภอไปวางขายให้คนที่มาเที่ยวงานได้รู้จัก สมัยก่อนขนมสาลี่มีสีชมพูอย่างเดียวสมัยก่อนเป็นกลิ่นนมแมว ปัจจุบันมีหลายหลายรสหลายสีให้เลือก เริ่มแรกขายชิ้นละ 50 สตางค์ พอใส่ถุงก็ขาย 13 บาท ตอนสมัยก่อนใส่โหลไม่มีขายอย่างปัจจุบัน แม่บ๊วยเป็นชื่อแม่ ผู้คิดค้นสูตร สำหรับร้านแม่บ๊วยย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันเลขที่ 279/1-4 หมู่ที่ 5 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า ได้เพียงประมาณ 10 ปี บริเวณถนนทางเข้าหน้าอำเภอบางปลาม้า ขนมสาลี่วันธรรมดาจะทำเพียง 10-20 ถาดเริ่มทำสาลี่ตั้งแต่ตีสี่เลิกสามโมงเช้าในวันธรรมดา ส่วนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เริ่มตั้งแต่ตีสี่เลิกทำช่วงเที่ยงวัน ทำอย่างนี้ตลอดอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างนี้เพื่อให้เพียงพอต่อการขายหน้าร้านเพราะที่ร้านจะไม่มีสาขาส่วนสูตรการทำขนมและเคล็ดลับคือต้องผสมแป้งเสร็จนำไปนึ่งครึ่งชั่วโมงด้วยไฟคงที่ เรียกว่าถาดต่อถาดไม่ผสมให้เสร็จที่เดียวแล้วนึ่ง แป้งจะตายไม่อร่อย ต้องนึ่งด้วยไฟคงที่ อย่างใช้ไฟอ่อนหรือเร่งไฟแรงเกินเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเลย ใช้เวลาในการนึ่งน้อยไปสาลี่ก็ไม่สุกสาลี่เสียทั้งถาดถ้าใช้เวลาในการนึ่งมากไปสาลี่ก็แห้งกราบไม่อร่อย ต้องนุ่มเหนียวไม่ติดมือ วัสดุที่สำคัญคือไข่ไก่ต้องสดใหม่ไข่ขาวกับแดงต้องไม่แยกกันคือไข่ใหม่ ไข่เก่าก็ใช้ได้แต่ไม่อร่อย ไม่สวย ทุกรายละเอียดต้องควบคุมเองทุกขั้นตอนต้องใส่ใจทั้งหมด ทุกครั้งที่ลงมือทำจะต้องดูว่าขนมชนิดใดเหลือมากน้อยก็จะทำเสริมทุกวันเท่านั้นไม่ทำไว้เยอะเรียกว่าขายกันวันต่อวันเท่านั้น แรงงานทำใช้พี่น้องญาติในครัวเรือนทั้งหมดทำกันแบบพี่แบบน้อง สูตรต้องเป็นสูตรอย่าลดส่วนผสมใดลงไปไม่ได้เพราะจะเพี้ยนทันที วัตถุดิบจะแพงอย่างไรก็ต้องใช้อย่าลดอย่าเพิ่มอย่าใช้วัตถุดิบแทนกันไม่ได้ การทำขนมสาลี่ทุกอย่างต้องดี สด ใหม่ หลายคนถามว่าทำไมต้องมีลูกเกตุที่ด้านหน้าขนมสาลี่เป็นสูตรหรือไม่ ตอบได้ตรงนี้เลยว่าเป็นเรื่องของหน้าตาขนมที่ไม่ใส่ลูกเกตุก็ดูว่าสาลี่ดูโล้นไม่น่ากินใส่ลูกเกตุแล้วดูหน้าตาดีขึ้นมาทันทีไม่โล้น แต่ถ้าถามนักชิมจะรู้เลยว่าว่าลูกเกตุเมื่อผ่านการนึ่งแล้วจะมีรดชาดหวานแบบลงตัวเมื่อกินกับสาลี่ที่หอมกรุ่นออกจากเตาใหม่ๆลงตัวที่สุด กินกับน้ำชา กาแฟเข้าได้หมด ปัจจุบันขายถุงละ 40 บาท ในอนาคตเราเองก็อยากให้สาลี่แม่บ๊วยคงความมีคุณภาพอยู่อย่างนี้ตลอดไปเพราะสูตรทุกรายละเอียดจะถูกถ่ายทอดอยู่ที่พี่น้องและญาติของเราเท่านั้นมิได้มีการเผยแพร่สูตรและเทคนิควิธีการให้คนอื่นรู้จึงไม่มีใครสามารถทำได้เหมือนเราอย่างแน่นอนจะอีกกี่ปีสาลี่แม่บ๊วยก็จะยังคงอยู่เป็นของดีเมืองสุพรรณบุรีตลอดไป ปัจจุบันมีสาลี่ สาลี่ทิพย์ ครองแครง และขนมชั้น ที่เราทำเองที่นี้ เวลาเปิดปิดร้าน 8.00 น. ปิด 18.00 น.ส่วนร้านอาหารแม่บ๊วยจะเปิด 9.30 น.ปิด 17.00 น. สามารถสอบถามรายละเอียดสำรองที่นั่งได้ที่ โทร 035-587077 035-586416
บ้านนักข่าว
แห้ว สมหวัง กระป๋องของดีเมืองสุพรรณฯ
หลายคนคงรู้จักแห้ว หลายคนกลัวคำว่าแห้ว แต่อีกหลายคนเมื่อลิ้มรสแห้วของดีเมืองสุพรรณบุรีแล้วก็ต้องถวิลหาอีกเพราะรดชาดที่อร่อยของแห้วที่มัน หวานกรอบสีสันสดสวยและมีทีเดียวคือสุพรรณบุรี จนเมื่อหลายปีก่อนมีการพยายามเปลี่ยนชื่อแห้วเป็นสมหวังเพื่อหวังให้คนหันมากินแห้ว และซื้อเป็นของฝากสำหรับแห้วกระป๋องต้องใช้แห้วแก่พอดีเท่านั้นเพื่อความอร่อยและต้องทำขายปีต่อปีเท่านั้น
นางสาวฉลวย กระแจะเจิม บ้านเลขที่ 612 หมู่ที่ 3 ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้คิดค้นแปรรูปโดยใช้ชื่อ อโลเวล่า สุพรรณบุรี เล่าว่าเดิมเมื่อปี 2534 ตนรวมกลุ่มเล็กๆกับชาวบ้านแปรรูปอโลเวร่า คือหางจระเข้และแตกออกมาเป็นการแปรรูปได้หลายอย่างในวัตถุดิบตัวเดียวคือว่านหางจระเข้ และต่อมาก็เป็นผลไม้ตามฤดูกาล อย่างแห้ว ซึ่งนับว่าเป็นของดีของอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี สำหรับแห้วที่มีคุณภาพดีต้องใช้แห้วที่มีคุณภาพดีผ่านการคัดสรรค์และต้องเป็นแห้วปอกใหม่แล้วส่งทันทีและแปรรูปทันทีไม่มีค้างคืน ต้องเป็นแห้วที่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ซึ่งต้องเป็นหัวแห้วช่วงนี้เท่านั้นจึงจะมีคุณภาพ ส่วนนอกเหนือจากนี้แห้วจะอ่อนบ้างแก่บ้างไม่มีคุณภาพ อ่อนไปแห้วก็จะไม่มีรสมัน แก่ไปแห้วก็จะสุกเกินไม่มัน แห้วต้องมีแป้งพอดีในตัวมีความมันในตัว มีความหวานอยู่ในตัว ต้องเป็นแห้วที่อยู่ในช่วงเหมาะสม เริ่มทำแห้วกระป๋องเริ่มทำตั้งแต่ประมาณปี 2538 แห้วที่เราใช้ต้องเป็นแห้วอำเภอศรีประจันต์ซึ่งมีหัวโต ต้องปอกสดๆใหม่ๆและที่สำคัญที่สุดแห้วที่ปอกและนำมาส่งที่เราต้องไม่ผ่านการแช่น้ำยาฟอกขาวเพราะหัวแห้วจะมีมีสีธรรมชาติและรสชาติจะเปลี่ยนทันที แห้วที่ปอกสดใหม่ไม่ผ่านสารฟอกขาว เมื่อแห้วนำไปไส่ในน้ำเชื่อมบรรจุลงในกระป๋องแห้วจะมีสีเหลืองสวย ลองสังเกตุดูว่าแห้วที่เราต้มเองหรือซื้อข้างทางปอกออกมาต้องมีเนื้อสีเหลืองที่เป็นสีขาวแสดงว่าผ่านน้ำยาฟอกมาแล้วแห้วธรรมชาติเขาต้องมีสีเหลืองสวย เนื้อต้องไม่นิ่ม ต้องกรอบ มัน ในอดีตบรรจุกระป๋องเสร็จเรียบร้อยจะขายกระป๋องละ 20 บาท ปัจจุบันขาย 40 บาท วิธีคัดแห้วต้องใช้แห้วแก่เท่านั้น มีคุณภาพดีเท่านั้น หัวแห้วจะมีขนาดแตกต่างกันคละเคล้ากันไปไม่เลือกขนาดแต่เลือกคุณภาพหัวแห้วที่แก่จัดมากกว่าขนาดของหัว แห้วแก่หอมอร่อยต้องทำปีต่อปี ไม่เป็นแห้วค้างปีทำพอขายไม่กักตุนไว้เยอะ ทำไปขายไป สำหรับคนในกลุ่มที่ทำมีประมาณ 11 คน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ของเรามีหลากหลายขึ้นตามวัตถุดิบและเราใช้สูตรการทำแบบโบราณทุกอย่างสินค้าขณะนี้จะมี หางจระเข้ เป็นสินค้าอออกมา 4 –5 ตัว แห้ว เงาะ ลูกตาล กระจับ และเต้าเจี้ยว ซึ่งทุกอย่างทำเองในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไม่ได้เป็นโรงงานใหญ่แต่เราทำเน้นคุณภาพต้องเกินราคา ทุกอย่างต้องผ่านกรรมวิธีที่เราคิดค้นสูตรต่างๆที่เป็นสูตรเฉพาะตัวที่ใช้ในกลุ่ม และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ถึงขณะนี้เราต้องการเพิ่มคุณภาพและรักษาคุณภาพให้คงที่เท่านั้นเพื่อให้ผลผลิตของเรารักษาตลาดของฝากของสุพรรณบุรีให้ได้ ที่บ้านจะไม่เปิดเป็นร้านแต่จะเปิดให้สมาชิกในกลุ่มเข้ามาทำกันตั้งแต่ช่วง 08.00 น. และปิดในช่วง 17.00 น. ของทุกวัน สนใจสามารถติดต่อได้ที่ 035-581371 สินค้าของเราจะมีอยู่ตามร้านของฝากทั่วไปและร้านของฝากจากสุพรรณบุรีจะไม่มีหน้าร้านจำหน่ายเองเพราะเน้นทำส่งจำหน่ายมากกว่า
บ้านนักข่าว
จานเด็ดเกี๊ยวกรอบผัดไท
วันนี้เวียนวนวนเวียนมาหาของกิน ของอร่อย ที่จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านนักข่าว อาสาพาไปชิมของดีของอร่อยขึ้นชื่อของตลาดสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่อยู่ริมถนนมาลัยแมน อู่ทอง สุพรรณบุรี เรียกว่าเห็นหน้าตาแล้วน้ำลายสอทีเดียว วันนี้พาไปชมชมเกี๊ยวกรอบผัดไท ของร้านเจ๊ม่วย ที่ทำมาแล้วกว่า40 ปี เรียกว่าไม่ได้มีทุกวันใครรวย ใครมีเงินมากน้อยแค่ไหนเจ๊ม่วยไม่สน ถ้าไม่ไปนั่งรอรับรองไม่ได้ลิ้มชิมรสอย่างแน่นอนเพราะเขาทำวัตถุดิบที่ใช้ในร้านแบบวันต่อวันไม่มีเหลือค้างทำพอดีๆ เริ่มขายตั้งแต่ชามละไม่กี่บาทจนกระทั้งปัจจุบันชามละ 30 บาทตามต้นทุนวัตถุดิบ เริ่มต้นด้วยทอดเกี้ยวแต่ต้องเกี๊ยวทำเองจึงจะอร่อยเพราะเป็นสูตรโบราณที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ทอดเกี๊ยวให้เหลืองพอประมาณด้วยไฟปานกลางน้ำมันไม่มากนักอย่าเร่งไฟแรงเกินเด็ดขาดเพราะเกี๊ยวจะไหม้เกียมกรอบเกินพอดีและออกรสขม จากนั้นตักเกี๊ยวขึ้นมาให้สะเด็ดน้ำมันพักไว้ ที่ร้านจะใช้น้ำมันพืชในการทอดเก๊ยว เท่านั้นเพราะจะไม่มีกลิ่นหืนที่ตัวเกี๊ยว นำไข่เป็ดหรือไข่ไก่ ซึ่งใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสมอร่อยเหมือนกันแต่ที่สำคัญต้องเป็นไข่ใหม่ที่ตอกลงไปไข่แดงและไข่ขาวไม่แตกออกจากกันใส่ไข่ลงไปผัดให้พอสุกในกะทะใส่เครื่องต่างๆลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน น้ำปลา ถั่วงอก น้ำตาล ใครชอบเผ็ดใส่พริกป่นลงไปเล็กน้อย ผัดสักครู่ให้เข้ากันดีจากนั้นนำเกี๊ยวลงไปคลุกให้ทั่ว ระวังอย่าให้เกี๊ยวแตกเดี๋ยวจะไม่น่ากินเมื่อเคล้ากันด้วยไฟปานกลาง จนพอเข้าเนื้อทั้งเครื่อง และตัวเกี๊ยวก็ตักขึ้นมาโรยด้วยผักชี หมูแดง ต้นหอมซอยอย่าลืมสำหรับเมนูนี้เหมือนทำง่ายแต่ถ้าไม่คอยควบคุมไฟให้คงที่ เกี๊ยวทอดกรอบเกินไปไม่อร่อยแน่นอน ส่วนผสมทุกส่วนต้องลงตัวขาดส่วนไหน เกินส่วนไหนก็ไม่อร่อยเป็นแน่ต้องออกมารสชาติกลมกล่อมกำลังดีเท่านั้น เมนูนี้ต้องมีรสเปรี้ยวนำ หวาน และ มันที่ถั่วและเกี๊ยวต้องกรอบตาม จึงจะอร่อย สำหรับเกี๊ยวกรอบผัดไทต้องถั่วงอกไม่สุกมากพอกรอบๆ ผักชี ต้นหอมซอย มะนาว ขาดไม่ได้ ใครอยากชิมแบบร้อนๆจากเตาเรียกว่าทำกันจานต่อจานเลยทีเดียวลองสอบถามทางและเข้าไปลิ้มชิมรสกันได้ที่ 035-599279 และยังมีเมนูที่ทำจากเส้นบะหมี่ที่เจ๊ม่วยทำเองกับมือเช่นอีกหลายเมนูให้ลองชิมกันแบบอิ่มแปล้เลยทีเดียวเรียกว่ามาสุพรรณบุรีทั้งดีได้ชิมของดีจะได้ไม่เสียเที่ยว
บ้านนักข่าว
วัดศรีจันต์วันนั้นถึงวันนี้มีของดีให้ค้นหา
สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรี มีวัดมากมาย และทุกวัดล้วนมีตำนานเล่าขานและประวัติต่างๆนาๆตามความเชื่อและเรื่องราวต่างๆที่ชาวบ้านได้ประสบพบมาทั้งสิ้น ซึ่งสถานที่ตั้งวัด และนับเป็นภูมิทำเลทองสำหรับอดีตคือวัดต้องอยู่ติดแม่น้ำ ลำคลอง เป็นหลัก เพราะการคมนาคมในอดีตใช้การคมนาคมทางเรือเท่านั้น วัดส่วนใหญ่ก็เลยต้องอยู่ติดแม่น้ำท่าจีน หรือเรียกอีกอย่างว่าแม่น้ำสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชาวสุพรรณบุรี มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พระอธิการอนพัทย์ อนุตตโร (หลวงพี่พงษ์) เล่าว่าสำหรับวัดศรีจันต์ ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดหนึ่งที่มีเรื่องราวเล่าขานกันมานานแสนนานไม่เคยเป็นวัดร้างมาก่อนมีพระอยู่ตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าวัดศรีจันต์อยู่ในสมัยต้นอยุธยา เดิมชื่อวัดศรีประจันต์ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับอำเภอศรีประจันต์ และเป็นชื่อแม่ยายของขุนแผน และชาวบ้านเรียกกันสั้นๆตามประสาเสียงเหน่อสุพรรณบุรี ต่อมาจนเรียกว่าสั้นๆง่ายๆว่าวัดศรีจันต์จนถึงในปัจจุบัน สำหรับวัดศรีจันต์เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนส่งผลให้น้ำท่วมบ้างแห้งบ้างถาวรวัตถุจึงแทบไม่มีหลงเหลือให้เห็น และในอดีตต้นไม้เกือบทุกต้นในวัดจะเป็นที่ผูกเรือของชาวบ้าน และพระ เรียกว่าวัดศรีจันต์เป็นอ่าวลึกมีน้ำเป็นส่วนใหญ่ของพื้นที่วัด เดิมวัดศรีจันต์มีที่ดินกว่า 140 ไร่ ในปัจจุบันเหลือพื้นที่รวมที่ทางวัดซื้อคืนจากญาติโยมบริเวณรอบข้างด้วยด้วยรวมแล้วประมาณ 20 ไร่ 29 วา ทิศตะวันออกของวัดติดแม่น้ำท่าจีน ทิศเหนือของวัดก็เป็นอ่าวน้ำ เป็นอ่าวที่ช้างลงในสมัยอดีตในสมัยโบราณ ทางทิศใต้ เป็นอ่าวควายลง ซึ่งวัดอยู่ระหว่างกลางเป็นทั้งอ่าวช้าง และอ่าวควายทำให้ในอดีตไม่มีใครกล้าบุกลุก พ.ศ. 2498 มีการสร้างโบสถ์โดย เจ้าคุณสมเด็จแพสมเด็จพระสังฆราช(แพ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ได้มารู้จักกับพระครูกันต์ หรืออาจารย์กันต์เจ้าอาวาสรูปเดิม จึงมีการเป็นประธานจัดสร้าง โบสถ์ให้ในสมัยนั้น โดยให้หลวงพ่อสด หลวงปู่โต๊ะ หลวงปู่เต๋ หลวงปู่ก้าย อาจารย์คัก มาช่วยดูแลการสร้าง และเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2500 และฝังลูกนิมิตในปี 2501 สำหรับอาจารย์คงที่เป็นอาจารย์ของขุนแผนซึ่งอยู่วัดตาลซึ่งเข้าใจว่าอยู่วัดเดียวกันเพราะอยู่ติดกับวัดศรีจันต์ ตามหลักฐานทางภาพถ่ายทางอากาศปี 2432 สำหรับพระเกจิส่วนใหญ่จะเดินทางมานำเอามวลสาร สำคัญจากวัดศรีจันต์เนื่องจากเชื่อว่าวัดศรีจันต์มีมวลสารที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรีเพราะตามประวัติเกี่ยวข้องกับทหารในสมัยโบราณ หลวงพ่อศรีประจันต์ ที่อยู่ในอุโบสถก็ลอยมาในแม่น้ำท่าจีนโดยอยู่บนแพขัด และลอยมาติดอยู่กับต้นโพธิ์ในสมัยพม่าชาวบ้านจึงช่วยกันนำมาเก็บรักษาบูชาไว้เป็นพระประจำวัดศรีจันต์ เพราะหลวงพ่อศรีประจันต์ลอยมาติดที่หลายวัดต่างวัดต่างช่วยกันพยายามใช้อุปกรณ์ต่างๆช่วยกันดึงแต่ไม่สำเร็จ และหลวงพ่อศรีประจันต์ก็ลอยมาเรื่อยๆจนมาหยุดที่วัดศรีประจันต์จึงเป็นที่เล่าขานกันในอดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับหลวงพ่อศรีประจันต์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างจากปูนปั้นหน้าตักกว้าง 67 นิ้ว ลงรักปิดทอง สีทองอร่ามทั้งองค์ตั้งอยู่ที่ในวิหาร ซึ่งเชื่อว่าหลวงพ่อศรีประจันต์มีความเกี่ยวข้องกับทหารในครั้งอดีต ชาวบ้านและประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธราหลวงพ่อศรีประจันต์ ก็จะเดินทางมาบนบานสานกล่าวเมื่อสมความปรารถนาก็จะนำมีดดาบสั้น มีดดาบยาว กระบี่ หอก มีดต่างๆอาวุธต่างๆที่ส่วนใหญ่ทำจากเหล็กเน้นเป็นพวกอาวุธ มาแก้บนจนเป็นที่กล่าวขานกันตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน เชื่อว่าอายุน่าจะมากกว่า 100 ปี ซึ่งในอดีตวัดศรีจันต์มีสภาพพุพังเกือบหมดเนื่องจากถูกน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่องอาตมาหลังเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ปรับภูมิทัศน์ไปแล้วส่วนหนึ่งถมดินปรับภูมิทัศน์ด้านหลังไว้ไปแล้วโดยใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 8 ล้านบาทเพื่อปรับพื้นที่ให้วัดมีความสูงขึ้นเท่ากับถนนเหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันพร้อมกับนำไม้ที่ใช้ได้ไปแปรรูปที่โรงงานพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่าที่สุดในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในวัด แต่เนื่องจากทางวัดยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการปรับปรุงวัดให้ดีดั่งเดิมและรองรับญาติโยมที่จะเดินเข้ามาในดินแดนแห่งความสงบแห่งนี้ วัดคือบ้าน บ้านคือวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ทางวัดศรีจันต์ ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ ล่าสุดเตรียมทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2556 เพื่อสมทบทุนสร้างหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์หลังใหม่ ให้แก่พระสงฆ์ซึ่งจะสร้างเหมือนกันทั้งหมดทั้งวัดไม่มีการแบ่งแยกว่ากุฏิไหนใหญ่กว่าหรือเล็กกว่ากันมาตรฐานเดียวกันเพื่อความเสมอภาคกัน โดยจะมีการตั้งองค์กฐินในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.00 น.ทอดกฐินในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น. ขอเชิญญาติโยมร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีและเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร ติดต่อสอบถามได้ที่ 035-497302 086-7122326 085-4070604
สำหรับผู้ที่ทำบุญกองละ 599 บาท จะได้รับสมเด็จย้อนยุควัดระฆังจำนวน 1 องค์ ซึ่งนับว่าเป็นพระเนื้อผงที่มีการสร้างที่วัดระฆังและใช้มวลสารและวิธีการพุทธาภิเษกแบบโบราณเชื่อว่าใครมีแล้วจะพบแต่ความสำเร็จรุ่งเรืองการงานเจริญก้าวหน้า
ผู้ที่ทำบุญกองละ 1,500 บาท จะได้รับพระสมเด็จไกรเซอร์วัดระฆังจำนวน 1 องค์ ซึ่งมีการสร้างและพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนในสถานที่ต่างๆ สำหรับพระรุ่นนี้ใช้การสร้างและมวลสารแบบโบราณที่วัดระฆัง พระทุกองค์ทั้งหมดสร้างขึ้นที่วัดระฆังและปลุกเสกที่วัดระฆังทั้งหมดใครที่มีในความครอบครองก็จะประสบแต่ความสำเร็จ ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ผู้ที่ทำบุญกองละ 20,000 บาท จะได้รับสมเด็จกรุวัดระฆัง ซึ่งเชื่อกันว่ามีการขุดค้นพบที่วัดระฆัง อายุน่าจะอยู่ระหว่าง 50-70 ปี ซึ่งมีเพียง 30 องค์เท่านั้น โดยมีการถวายมาจากวัดระฆังเพื่อนำรายได้มาสบทบทุนในการก่อสร้างหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์หลังใหม่ ให้แก่พระสงฆ์ ซึ่งเนื้อพระรุ่นนี้จะมีเนื้อที่มีความเก่าแก่มากกว่ารุ่นอื่นๆซึ่งมีผู้เข้ามาขอเช่าจำนวนมากโดยขอเช่าในราคาสูง
ร้านอาหารขึ้นชื่อในอำเภอศรีประจันต์ เป็นร้านที่รับแขกบ้านแขกเมืองเป็นประจำคือเรือนแพป้าสร้อย เป็นแพอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ติดกับที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ อยู่ในเขตพื้นที่ตลาดเก่าศรีประจันต์บ้านท่านเจ้าคุณ มีอาหารให้เลือกมากมายเพราะทำเองในครัวเรือน เป็นร้านอาหารเล็กๆแบบอบอุ่น แต่อาหารคุณภาพใหญ่กว่าร้านเยอะ อาหารขึ้นชื่อคือปีกไก่ยัดไส้ และเมนูขึ้นชื่ออีกมากมาย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 035-581113
สามารถแวะพักและชมวิธีชีวิตเดิมๆได้ที่หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อำเภอศรีประจันต์จังหวัดสุพรรณบุรี ชมการแสดงควาย การทำนา และการใช้พื้นที่ 1 ไร่สามารถทำเงินได้ถึง 3 แสน และยังมีที่พักคอยรับรองนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่บริเวณถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โทร 0-3558-2891-2 0-3558-1668 08-9036-4445
บ้านนักข่าว
แห่ชมเรือตะเคียนทองโบราณอายุกว่า 100 ปี วัดดังสุพรรณฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเถรพลาย ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ชาวบ้านจากทั่วสารทิศแห่เดินทางมากราบไหว้เรือไม้ตะเคียนทองโบราณอายุกว่า 100 ปี ที่ทางวัดได้รับถวายจากญาติโยมเพื่อให้นำมาเก็บรักษาไว้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ดูศึกษาวิธีการทำเรือโบราณโดยใช้ต้นไม้ขนาดใหญ่ทั้งต้นมาขุดจนเป็นเรือใช้สัญจรทางน้ำในอดีต ซึ่งชาวบ้านบางรายก็มาเสี่ยงโชคหวังถูกหวยรวยเบอร์
พระอธิการสันทัต รตนญาโน เจ้าอาวาสวัดเถรพลาย เปิดเผยว่าหลังจากอาตมาได้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเถรพลาย ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โยมสนิท มะนาวหวาน พร้อมครอบครัวได้นำเรือไม้ตะเคียนทองโบราณอายุกว่า 100 ปี ความยาวกว่า 2 เมตร กว้างกว่า 1 เมตร มาถวายให้กับทางวัดเถรพลายได้เก็บรักษาไว้ดั่งเดิมเพราะเป็นเรือไม้ตะเคียนทั้งต้นขุดไม้ออกจนเป็นเรือซึ่งในอดีตของเจ้าอาวาสวัดเถรพลายรูปแรกคือหลวงพ่อวุ่น ได้ใช้พายไปตามแม่น้ำท่าจีนเพื่อบิณฑบาตตามบ้านญาติโยมแต่ด้วยกาลเวลาเปลี่ยนไปจนมาใช้การสัญจรทางอื่นแทนจึงถูกหลงลืมไปในปัจจุบัน ซึ่งอาตมารับถวายเรือไม้สตะเคียนทองมาแล้วก็ได้สร้างหลังคาคลุมเพื่อป้องกันแสงแดด และเจตนาให้ประชาชนที่เดินทางเข้าวัดได้ศึกษาหาความรู้ดูวิธีการสร้างเรือแบบโบราณโดยใช้ภูมิปัญญาแต่ที่ผ่านมาก็มีทั้งผู้ที่เดินทางมาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ดูความพยายามและความประณีตในการสร้างเรือหนึ่งลำว่าต้องใช้เวลาความพยายามเพียงไรกว่าจะได้เรือหนึ่งลำ และมีประชาชนบางส่วนก็มาดูเลขหวยเลขจากเจ้าแม่ตะเคียนตามความเชื่อ ชาวบ้านบางรายก็สุขสมหวัง ชาวบ้านบางรายก็พลาดหวัง มีอยู่หลายรูปแบบ ตามความเชื่อซึ่งทางวัดเถรพลายเองก็ไม่ได้ห้ามกระทำแต่ประการใดเพียงแต่อยากให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวเป็นที่รวบรวมศูนย์รวมใจประชาชนเพราะวัดก็เปรียบเสมือนแหล่งศึกษาหาความรู้ให้แก่ประชาชนเป็นศูนย์รวมจิตใจแก่ผู้ที่ได้เดินทางเข้ามาเหมือนหนีร้อนมาพึ่งเย็น เจ้าอาวาสกล่าว
บ้านนักข่าว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)