วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ศาลปกครองจัดการเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม
ศาลปกครองจัดการเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๓ หัวข้อ “ความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมของอาเซียนกับบทบาทของศาล : ASEAN’s Environmental Challenges and Legal Responses”
วันเสาร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ศาลปกครองสูงสุดของประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๓ ในหัวข้อเรื่อง “ความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมของอาเซียนกับบทบาทของศาล : ASEAN’s Environmental Challenges and Legal Responses” ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีประธานศาลสูงสุดและตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง ๑๐ ประเทศ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้กว่า ๑๐๐ คน
ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ กล่าวว่า “การเสวนาในครั้งนี้เป็นเวทีที่สำคัญที่ตุลาการและผู้พิพากษาซึ่งเป็นตัวแทนของศาลในภูมิภาคอาเซียนได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นสิ่งแวดล้อมในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ซึ่งการเสวนาดังกล่าวนอกจากจะทำให้ทราบถึงแนวทางการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ แล้ว ยังทำให้ทราบถึงประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาพิพากษาคดีด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ในปัจจุบันนับว่ามีแนวโน้มสภาพการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมโทรมรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่มนุษย์เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายหลังจากได้แสวงหาผลประโยชน์มาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากสาเหตุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ การเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่จากสาเหตุการตัดไม้ทำลายป่า หรือการเกิดปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและทางน้ำจากสาเหตุความประมาทเลินเล่อของมนุษย์ เป็นต้น
จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการรักษาและปกป้องเพื่อให้สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป และการดำเนินการดังกล่าวคงไม่อาจดำเนินการได้ด้วยบุคคลใดเพียงบุคคลหนึ่ง แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากฝ่าย บริหาร... บริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากฝ่ายบริหารต้องกำหนดแนวนโยบายในเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความแน่นอนและชัดเจน เพื่อที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะได้นำแนวนโยบายดังกล่าวมาออกเป็นหลักเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อให้มีผลเป็นการบังคับให้คนในสังคมต้องปฏิบัติตาม และท้ายที่สุดกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติคงไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้หากฝ่ายตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมไม่มีสภาพบังคับหรือไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากต้องอาศัยความร่วมมือจากภายในประเทศแล้ว เพื่อให้การจัดการเป็นไปอย่างมีระบบและเหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากบางกรณีปัญหาเมื่อเกิดขึ้นอาจมีผลกระทบขยายออกไปเป็นวงกว้างและ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศหนึ่งประเทศใดเพียงประเทศเดียว ความร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมกันคิด เพื่อหาแนวทางการดำเนินการร่วมกันจากประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน หรือจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงนับเป็นแนวทางที่เหมาะสมและสมควรได้มีการดำเนินการ
กอปรกับในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ อาเซียนมีเป้าหมายจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วยสามเสาหลัก ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยมี วิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำอาเซียน คือ การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
จากเป้าหมายในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนดังกล่าว การที่ได้มีการจัดเสวนาในครั้งนี้ก็นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมมีการพัฒนาไปอย่างเป็นรูปธรรม สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังนับเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียนมีทิศทางและมาตรฐานไปในแนวทางเดียวกัน
อนึ่ง ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยได้เริ่มสร้างเครือข่ายตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยการจัดเสวนาโต๊ะกลมตุลาการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นเวทีสำหรับตุลาการและผู้พิพากษาได้มาร่วมกันพิจารณาปัญหาและอุปสรรคในการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมานับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้จัดเสวนามาแล้วจำนวน ๒ ครั้งที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ ในการเสวนาโต๊ะกลมดังกล่าว ได้มีการนำเสนอเอกสารทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ /- การเปลี่ยนแปลง... - การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และกฎหมาย (สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : การนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับรายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบโดยประเทศไทย พัฒนาการทางกฎหมายและการดำเนินคดีในระหว่างประเทศ พัฒนาการทางกฎหมายและคดีเกี่ยวกับโลกร้อนของประเทศไทย)
- ความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมของอาเซียน : ป่าไม้ การตัดไม้และค้าไม้ผิดกฎหมาย ไฟป่า และหมอกควันข้ามพรมแดน
- ความหลากหลายทางชีวภาพและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
- การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (สิทธิชุมชนในประเทศไทย ข้อดีและข้อด้อยของระเบียบวิธีพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในประเทศอินโดนีเซีย
- มาตรการคุ้มครองชั่วคราว : การป้องกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้
- การระงับข้อพิพาททางเลือกโดยศาล
- การบังคับตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาล
- ความร่วมมือระหว่างศาลในภูมิภาคอาเซียน
สำนักงานศาลปกครอง ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
กลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์
อาคารศาลปกครอง เลขที่ ๑๒๐ หมู่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น