วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556
งาน “ ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว ”
งาน “ ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว ”
รำลึกประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนาสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
“ข้าแต่เทพยดาฟ้าดินทั้งหลาย จงเป็นทิพย์พยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยาประเพณี ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำภยันตรายแก่เรา นับแต่นี้ไปเบื้องหน้า กรุงพระมหานครศรีอโยธยากับเมืองหงสาวดีขาดจากกัน แต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน”
สิ้นเสียงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งสวมบทโดยนายธนัสนันทน์ กาวิละนันท์ นิสิตชั้นปีที่ ๔ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขณะหลั่งน้ำทักษิโณทก เสียงปรบมือและไชโยโห่ร้องของบรรดาผู้ชมผสมกับเสียงของเหล่าทหารก็ดังขึ้นทั่วอาณาบริเวณ ด้วยความรู้สึกปิติ ฮึกเหิม ปานประหนึ่งว่าอยู่ในช่วงเวลานั้นจริง ๆ
นี่คือฉากจบของละครเทิดพระเกียรติชุดพระนเรศวรวรราชาธิราช พระราชาเหนือพระราชาผู้ประเสริฐ ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ – ๕ นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของงาน “ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว” โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ร่วมกับสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และกองการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณ บริเวณด้านหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร
“งานย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวาระครบรอบ ๔๒๔ ปีแห่งการขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก บทบาทของพระองค์มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นอย่างมาก จึงมีการจัดแสดงให้เห็นถึงประวัติและวีรกรรมของพระองค์ท่าน รวมถึงการจำลองเขตพระราชวัง เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลังต่อไป” ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงที่มาของงาน
จากเจตจำนงดังกล่าว บริเวณด้านหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงถูกเนรมิตให้กลายเป็นเขตพระราชวัง โดยฝีมือของนิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์และนิสิตรายวิชาอารยธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุกคณะวิชา ทุกชั้นปี ให้ผู้ร่วมงานได้ย้อนอดีตเข้าสู่ยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่การเดินผ่านประตูพระราชวัง พบกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ไทดำ ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทพวน มอญ กะเหรี่ยง ม้ง ส่วย มลายู ฯลฯ ในรูปแบบที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าการแต่งกาย ศิลปหัตถกรรม อาหาร ภาษา การละเล่นต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้มีเพียงสังคมเดียวหรือวัฒนธรรมเดียว แต่เป็นพหุทางวัฒนธรรม ด้วยความหลากหลายของชนชาติต่าง ๆ ก่อเกิดเป็นประเทศไทย ข้ามมายังอีกฝั่ง เพลิดเพลินกับการย่ำตลาดย้อนยุค เลือกชิม เลือกซื้ออาหารและสินค้าแนวโบราณประยุกต์ กล่าวคือ การนำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมมาพัฒนา ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่
เช่น ข้าวเกรียบสาหร่ายน้ำจืด, สมุดบันทึกปกผ้าไทลื้อ, กระเป๋ากลจากผ้าขาวม้า, ลูกช่วงดับกลิ่น เป็นต้น เสียงเจื้อยแจ้วบรรยายสรรพคุณ เล่าเรื่องราวอันหลากหลาย ด้วยลีลา น้ำเสียงอันสดใส บวกกับการแต่งกายในแบบย้อนยุคและชนเผ่าต่าง ๆ ช่วยเติมสีสัน สร้างบรรยากาศให้คึกคัก ผู้คนต่างสนุกสนานกับการ เข้าซุ้มนั้น ออกร้านนี้ ซึมซับความเป็นไทยในอดีตได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
จากเสียงอื้ออึงกลายเป็นความนุ่มนวลอ่อนหวาน เมื่อก้าวเข้าสู่เขตพระราชวังชั้นใน เหล่านางใน นางกำนัลต่างนั่งร้อยมาลัย จัดดอกไม้ แกะสลัก ทำขนม รวมถึงการร่ายรำ การละเล่นต่าง ๆ และที่นี่เอง เราได้ชมนิทรรศการพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ พร้อมการแสดงละครเทิดพระเกียรติอันยิ่งใหญ่ตระการตา ๔ วันเต็ม ๆ กับการเก็บเกี่ยวความรู้ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย การตักตวง ดื่มด่ำบรรยากาศย้อนยุค แต่หากมองย้อนไปก่อนหน้านี้ นิสิตใช้เวลาหลายเดือน แรมปี ในการค้นคว้าทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ สังคม วีถีชีวิต แล้วนำมาปัดแต่ง ต่อยอดองค์ความรู้จากประวัติศาสตร์ และทุนทางสังคม วัฒนธรรม สู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ในรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น แม้ว่าวันนี้งานย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแควได้จบลงแล้ว แต่ความประทับใจและองค์ความรู้มิได้สิ้นสุดไปด้วย ความร่วมแรงร่วมใจของนิสิตกระตุ้นให้คนรุ่นหลังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของวีรกษัตริย์ในการกอบกู้ก่อร่างสร้างประเทศไทย ทั้งยังจุดประกายให้ก่อเกิดการพัฒนาทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่เรามีอยู่แล้วให้กลายเป็นรายได้ในมิติการท่องเที่ยว เป็นแบบอย่างให้กับองค์กรต่าง ๆ ในการประยุกต์ พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ต่อไป
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น