วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ม.นเรศวร ร่วมสืบสาน ตำนานมรดกไทยในประเพณีสงกรานต์

ร่วมประกวดก่อพระเจดีย์ทราย สนุกสุดใจกับการแข่งขันขูดมะพร้าว สายใยของครอบครัวและชุมชน ในประเพณีสงกรานต์ “ทำไมคนต่างจังหวัดชอบกลับบ้านช่วงวันสงกรานต์ รถก็ติด คนก็เยอะ กลับช่วงอื่นดีกว่ามั๊ย” คำถามของเพื่อนร่วมงานที่สะท้อนภาพความจอแจแออัดของผู้คนและรถราในเมืองกรุงช่วงวันสงกรานต์ “ก็เพราะเป็นวันที่ทุกคนไม่ว่ารัฐบาลหรือเอกชนหยุดงาน หยุดเรียน และเป็นวันหยุดยาว แต่ละคนจึงมุ่งหน้ากลับบ้าน กลับไปซบไออุ่นของครอบครัว” เพราะช่วงสงกรานต์ไม่ได้มีเพียงความสนุกสนาน ชื่นบาน คลายร้อน แต่ยังเป็นวันครอบครัว วันผู้สูงอายุ วันทำบุญใหญ่ วันแห่งกิจกรรมของคนทุกเพศ ทุกวัย เราจึงเป็นคนหนึ่งที่เคยยืนขาแข็งรอรถทัวร์ที่เข้าชานชาลาช้ากว่ากำหนดถึง ๓ ชั่วโมง เพียงเพื่อได้กลับไปอยู่พร้อมหน้าครอบครัวและร่วมกิจกรรมอันหลากหลาย
………………………………………………. เทศกาลสงกรานต์ในปี ๒๕๕๗ นอกจากการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ การสังสรรค์ของวงศ์ตระกูลที่ไม่ได้พบหน้ากันมาหลายปีแล้ว ยังได้ร่วมกิจกรรมของชุมชนอีกด้วย วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๗ ณ วัดสะกัดน้ำมัน ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งรวมของคนจาก ๓ หมู่บ้านเพื่อร่วมทำบุญผ้าป่าสร้างอุโบสถ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และที่สำคัญยังได้ร่วมประกวดก่อพระเจดีย์ทราย และเชียร์การแข่งขันขูดมะพร้าวที่หาชมที่ไหนไม่ได้
เมื่อลูกสาว ลูกชาย พร้อมด้วยหลานสาวอีก ๒ คน บอกว่าจะเข้าประกวดก่อพระเจดีย์ทราย จึงเป็นหน้าที่ของบรรดาแม่และยายที่ต้องช่วยกันขนทราย หาอุปกรณ์และดอกไม้ หาร่มมากำบังไอแดดอันร้อนระอุ คนละไม้คนละมือ ด้วยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน จึงต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างสรรค์ เกิดการถามไถ่ ถกเถียง ปรับเปลี่ยน ภายในเวลา ๒ ชั่วโมงก็ได้ชื่นชมผลงานของตัวเอง การก่อพระเจดีย์ทรายเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง คนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ ด้วยมีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้ (http://www.oknation.net/blog/print.php?id=703678)
ในระหว่างรอกรรมการตรวจให้คะแนนผลงานพระเจดีย์ทรายที่เด็ก ๆ ช่วยกันตั้งชื่อว่า พระปฐมเจดีย์ พวกเราก็พากันไปชมและเชียร์การแข่งขันขูดมะพร้าว ซึ่งไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นายสมพงษ์ ธูปบูชา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ บ้านวังส้มซ่า เล่าถึงที่มาของการจัดการแข่งขันขูดมะพร้าวว่า “ปกติช่วงวันสงกรานต์ หมู่บ้านของเราจะจัดการสรงน้ำพระและรดน้ำผู้สูงอายุเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้เราได้เพิ่มกิจกรรมประกวดก่อพระเจดีย์ทรายและการแข่งขันขูดมะพร้าวขึ้นมา เพื่อให้คนในหมู่บ้านได้สนุกสนานรื่นเริงกัน สำหรับการแข่งขันขูดมะพร้าวเป็นการรื้อฟื้นกิจกรรมในอดีต นั่นคือ เวลามีงานแต่งงาน งานบวช หรือทำบุญ ก็จะมีการระดมคนในหมู่บ้านช่วยกันปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว เพื่อทำอาหารเลี้ยงพระและผู้มาร่วมงาน ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้เครื่องขูดกันหมดแล้ว หรือไม่ก็ซื้อมะพร้าวสำเร็จมาเลย คนรุ่นใหม่ขูดมะพร้าวกันไม่เป็นแล้ว ที่หนักกว่านั้นคือจ้างโต๊ะจีนมาเลี้ยง สะดวกสบาย มาถึงก็นังกินได้ เลย” เราจึงเห็นผู้เข้าแข่งขันขูดมะพร้าวมีอายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป เริ่มตั้งแต่การประดิดประดอยตกแต่งมีดและกระต่ายขูดมะพร้าวมาโชว์กันก่อน พอเสียงนกหวีดดังขึ้น คนหนึ่งปอก อีกคนขูด ด้วยความขะมักเขม้น เอาจริงเอาจัง แต่ที่เด็ดสุดเห็นจะเป็นบรรดาสมาชิกของแต่ละหมู่บ้านที่ส่งเสียงเชียร์กันอย่างเมามัน ช่วยลุ้น ช่วยพัดให้คลายร้อน เวลา ๕ นาทีของการแข่งขัน จึงมีแต่ความสนุกสนาน ครึกครื้น ดูเหมือนกองเชียร์จะเหนื่อยกว่าผู้เข้าแข่งขันเสียอีก
ผลการแข่งขันดูจะไม่สำคัญเท่าผลทางจิตใจ ความรื่นเริง หรรษา สมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน ฝ่ายลูกหลานของเราก็ดีใจกันยกใหญ่กับรางวัลชมเชยในการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย พลางหมายมั่นปั้นมือกันว่า ปีหน้าจะเตรียมการมาให้พรั่งพร้อม หวังให้ได้รางวัลสูงกว่านี้ ภาพแห่งความร่วมแรงร่วมใจ สายใยและความอบอุ่น ...นี่ต่างหากแก่นแท้ของประเพณีสงกรานต์ อยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเรา จะร้อนจะหนาวบ้านเราก็อุ่นใจ อุ่นด้วยความรักและความห่วงใย อย่าทิ้งบ้านไป บ้านของเรา พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น