วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

นิทรรศการประติมากรรม “ ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทย ”


นิทรรศการประติมากรรม  “ ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทย ” ฉายรากเหง้า ตัวตน บนคุณค่าของเมล็ดข้าว


              “เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ลาสเวกัส สหรัฐเมริกา ๑๐ กว่าปี ที่นั่นเป็นเมืองกึ่งทะเลทราย พื้นดินแห้งแล้ง หาต้นไม้ยาก พอกลับมาอยู่เมืองไทย ไปเห็นผืนนาที่ตำบลบึงพระ จังหวัดพิษณุโลก อึ้งเลย เขียวไปหมด ผิดกับที่เราเคยอยู่มา ทำให้รู้สึกว่า คนไทยโชคดีมากที่ได้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ทิ้งอะไรลงไปมันก็งอกขึ้นมาได้หมดทุกอย่าง ทำให้เราไม่อดอยาก กินดีมีสุข”


              นี่คือแรงบันดาลใจของนางสุธิดา มาอ่อนในการสร้างสรรค์งานประติมากรรม “ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทย” ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ด้วยต้องการให้คนไทยเห็นความสำคัญและภาคภูมิใจที่ได้อยู่บนแผ่นดินไทย

              “สร้างสรรค์งานโดยใช้ข้าวเป็นตัวหลัก เพราะเห็นว่าข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และการปลูกข้าวก็เป็นอาชีพหลักที่สำคัญของประเทศ จากความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทยอันเกิดจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศ ทำให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก ในขณะเดียวกันยังทำให้เกิดผลผลิตด้านวัฒนธรรมตามมา อันหมายรวมถึงประเพณี พิธีกรรม ต่าง ๆ จึงเป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้” คำบอกเล่าของนางสุธิดา มาอ่อน




              “ผลงานประติมากรรม “ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทย” มีจำนวน ๒ ชุด ชุดแรกเป็นประติมากรรมลอยตัวด้วยเทคนิคไฟเบอร์กลาสเรซิน ใช้สัญลักษณ์รูปข้าวที่ถูกตัดทอนรูปทรงจากเมล็ดจริง แล้วใส่เหลี่ยม สัน เพื่อให้เกิดแสงเงา ในผลงาน ๑ ชิ้นมีสัญลักษณ์เป็นเมล็ดข้าว ๔ เมล็ด แต่ละเมล็ดมีความหมายแทนกิจกรรมและวิถีชีวิตของเกษตรกรในแต่ละเดือน ที่เราเรียกว่า ประเพณี ๑๒ เดือน สืบทอดกันมายาวนาน เช่น การทำขวัญข้าว, การสู่ขวัญข้าว การบูชาแม่โพสพและแม่ธรณี, การลงแขก, พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น”




              “อีกหนึ่งชุดเป็นประติมากรรมประเภทศิลปะจัดวางเชิงความคิดรูปวงเวียนทางช้างเผือก เนื่องจากโลกของเราอยู่ในระบบสุริยจักรวาลที่เป็นทางช้างเผือก ซึ่งทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศ เป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ ชิ้นงานเป็นข้าวเปลือกและดินเผาที่มีส่วนผสมของดินเหนียวจากท้องนา ทรายและผงธูปที่เก็บมาจากวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช ถัดไปมีกองข้าวเปลือก เป็นตัวแทนของผลิตทางด้านเกษตรกรรม มีไม้ไผ่สานเป็นชะลอมอันน้อยแขวนอยู่บนเฉลวที่ชาวนาใช้ในพิธีทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง มีความหมายถึงการป้องกันสิ่งเลวร้ายในผืนนา ทำให้เกิดผลผลิตอุดมสมบูรณ์เต็มที่”



              นิทรรศการประติมากรรม “ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทย” เป็นวิทยานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่พิสูจน์ฝีมือด้านงานศิลป์ของนางสุธิดา มาอ่อน นอกจากนี้ยังมีคุณค่าต่อสังคม ในการปลุกสำนึก กระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักในรากเหง้า ความสำคัญแห่งผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทย ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจและความหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรม



              ขอเชิญชื่นชมนิทรรศการประติมากรรม “ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทย” วันนี้จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ทุกวันจันทร์ – วันเสาร์ (เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๘


พรปวีณ์  ทองด้วง   นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น