วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สภาเกษตร ฯ วอนนายกฯ ทบทวน GMO ชี้เป็น ปัญหาความมั่นคงชาติ

  

      สภาเกษตรกรแห่งชาติ ,  สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค , คณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และมูลนิธิชีววิถี  ล มูลนิธิข้าวขวัญ  , เครือข่ายโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี , เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี , และ ภาคประชาสังคมสุพรรณบุรี  เตรียมยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ  เพื่อให้พิจารณาทบทวนการอนุญาตให้มีการทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในแปลงเปิด และ การอนุญาตให้มีการปลูกในเชิงพาณิชย์



               วันนี้ 28 ตุลาคม  2557 เวลา 19.00 น. ผู้แทนมูลนิธิข้าวขวัญ เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ กับ ศูนย์ข่าวท้องถิ่น ในกลุ่ม Plus Google สุพรรณบุรีนิวส์ ว่า  ทางกลุ่ม กำลังเตรียมการเข้ายื่นหนังสือ ต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ พิจารณาทบทวนการอนุญาตให้มีการทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในแปลงเปิด และ การอนุญาตให้มีการปลูกในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีสาระดดยสรุปดังนี้
          

                     

 สหรัฐกับฝันที่เป็นจริง  พืช ปลอด GMO 





  http://waymagazine.org/report/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88-gmo-free






    เอ็นจีโอ ชี้ 'ประยุทธ์ มองให้ออก GMO ปัญหาความมั่นคงชาติ ทำลายเกษตรกรรายย่อย  

          ภาคประชาสังคมเปิดเวทีต้านรัฐบาลดันพืชจีเอ็มโอสู่ยุทธศาสตร์เกษตร ‘สารี อ๋องสมหวัง’ วอนสื่อช่วยชี้นำหยุดยั้ง หวังคนไทยมีสิทธิเลือกคุณภาพชีวิตที่ดี ‘อุบล อยู่หว้า’ สะกิดรัฐบาลทหาร มองเรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคง ตัวบ่อนทำลายเกษตรกรรายย่อย 

      เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, คณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และมูลนิธิชีววิถี จัดสัมมนา ‘เดินหน้าจีเอ็มโอ บรรษัทกำไร ประชาชนไทยล่มจม?’ ณ อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ


              นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงสัดส่วนการปฏิเสธอาหารที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms :GMOs) ว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มการตัดสินใจไม่เห็นด้วยกับการส่งเสริมอาหารจีเอ็มโอมากขึ้น โดยเฉพาะทวีปยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร จากเดิมมีผู้บริโภคเห็นด้วยมากถึง 52% ในปี 1996 ลดลงมาเหลือเพียง 44% ในปี 2010 หรือเยอรมนี จากเดิมมีผู้บริโภคเห็นด้วยมากถึง 47% ในปี 1996 ลดลงมาเหลือเพียง 22% ในปี 2010 เป็นต้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เกิดขึ้นกับยุโรปตะวันตกและตะวันออก

              สำหรับสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่ผลักดันให้กำเนิดพืชจีเอ็มโอนั้น ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เริ่มปรากฏกระแสไม่เห็นด้วยมากขึ้น ภายหลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อ 5 ปีก่อน โดย 3 รัฐแรกของสหรัฐฯ ได้แก่ รัฐเมน คอนเน็ตติกัท และเวอร์มอนต์ ได้มีมาตรการการบังคับให้ติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มาจากจีเอ็มโอ อีกทั้ง 64 ประเทศทั่วโลกได้เรียกร้องให้ติดฉลากเช่นกัน เพื่อต้องการทราบถึงที่มาของอาหาร ด้วยผู้บริโภคเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นในอาหารจีเอ็มโอนั่นเอง
“ทิศทางยุทธศาสตร์ด้านเกษตรของไทยจำเป็นต้องเลือกเดินจะไปทางไหน ระหว่างการนำภาคเกษตรกรรมให้ตกเป็นเมืองขึ้นและพึ่งพาของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยมาก หรือจะเลือกพึ่งพาความแข็งแกร่งของตนเอง” นายวิฑูรย์ กล่าว


รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์


              ด้านรศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บางครั้งผู้มีอำนาจในไทยอาจไม่ทราบทุกเรื่อง มักฟังที่ปรึกษาหรือผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมีภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้มีอำนาจมีแนวคิดจะปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งทราบกันดีจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา ด้วยพืชเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อขายสินค้าราคาถูก ไม่ใช่ราคาแพง ดังนั้นเกษตรกรรายย่อยจะอยู่ไม่ได้ เพราะมีพื้นที่เกษตรกรรมน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องน่ายินดีที่ยังมีแนวคิดผลิตข้าวคุณภาพอยู่
“ผมคาดหวังกับรัฐบาลจะผลักดันนโยบายด้านเกษตรและทรัพยากรชีวภาพอยู่ในแนวทางการปฏิรูป 11 ด้าน แต่กลับพบว่า ไม่มีการให้ความสนใจเลย” นักวิชาการด้านเกษตร กล่าว และว่า หากไทยเลือกเปิดเกมจีเอ็มโอ จะถือเป็นการเดินที่ผิดมหันต์ จนให้อภัยไม่ได้ เพราะการขายของถูกจะทำให้เกษตรกรรายย่อยหมดประเทศ และหากยังต้องการยกระดับบริษัทรายใหญ่ถือเป็นการทำลายชาติให้ย่อยยับ



               ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้การมีอาหารจีเอ็มโอจึงไม่ใช่คำตอบแน่นอน ดังนั้นสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญมากที่สุดในการช่วยเราให้ก้าวพ้นจากสิ่งเหล่านี้ โดยต้องละทิ้งความเป็นกลาง แล้วหันมาชี้นำเรียกร้องหยุดยั้งแทน มิเช่นนั้นก็ต้องไป ๆ กลับ ๆ เพื่อให้เห็นว่าเรามีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเลือกบริโภคอาหารปลอดภัย

              “ขอให้รัฐบาลเร่งทบทวนนโยบายผลักดันพืชจีเอ็มโอเป็นยุทธศาสตร์เกษตรให้ชัดเจนและยุติการทดลองในไร่นาของเกษตรกร ส่วนจะทำในห้องแล็ปก็ทดลองไป” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว และว่า รวมไปถึงต้องติดฉลากอาหารจีเอ็มโอให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังทบทวนเรื่องดังกล่าวอยู่
น.ส.สารี กล่าวถึงการติดฉลากในผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอนั้นต้องทำให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เห็นได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกตัดสินใจ และสุดท้าย จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดเครื่องมือภาคประชาชน นั่นคือ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกลไกนี้จะทำให้ความเห็นของเรามีความหมาย โดยทำอย่างไรให้ได้รับการนำไปเป็นนโยบาย มาตรการ หรือกฎหมาย อย่างจริงจัง


นายอุบล อยู่หว้า


               ด้านนายอุบล อยู่หว้า ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของรัฐในการกำกับพฤติกรรมกลุ่มทุน ในการปิดกั้นโอกาสของคนทั้งประเทศที่จะทำมาหากิน เช่นเดียวกับเซเว่นอีเลฟเว่นที่ดำเนินธุรกิจขายอาหารตามสั่ง ฉะนั้น ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หายใจเข้าออกเป็นความมั่นคงนั้น จะหันมามอง ‘จีเอ็มโอ’ เป็นความมั่นคงของชาติหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการทำลายแบบแผนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย เพราะอย่าลืมหน่วยผลิตของไทย คือ ครอบครัว แต่ขณะนี้กลับใกล้ถูกทำลาย และเปลี่ยนเป็นบรรษัทแทน

              “เรากำลังเดินตามรอยสหรัฐฯ ให้คนไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร ทั้งที่ อาหารเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ แต่บรรษัทเหล่านั้นกำลังยึดวัฒนธรรมไปผลิตเพื่อออกขาย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องทำให้จีเอ็มโอกลายเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติให้ได้ เเละต้องสนับสนุนพัฒนางานวิจัยร่วมกับเกษตรกร เพื่อค้นหาศักยภาพของเมล็ดพันธุ์พืชที่มีในแผ่นดินนี้จริงจัง" นายอุบล กล่าว 
สุดท้าย ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ บริษัทผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน กล่าวว่า เดิมเคยสนับสนุนการปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่เมื่อเห็นว่าอนาคตอาจทำให้เกิดการผูกขาดได้ ดังกรณีฟิลิปปินส์ที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีล้มหายไป จึงเริ่มกลับมาคัดค้านจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการส่งออกเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ 1.4 พันล้านบาท/ปี ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ตกเป็นของกลุ่มทุนข้ามชาติ เหลือตกถึงมือคนไทยเพียง 300-400 ล้านบาท ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องที่มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท/ปี และเม็ดเงินอยู่ในมือคนไทยทั้งหมด

              “ผมยอบรับได้หากมีการนำอาหารจีเอ็มโอมาใช้เพื่อการปศุสัตว์ แต่คงยอมรับไม่ได้หากมีการทดลองในแปลงของเกษตรกร เพราะเชื่อว่าจะถูกกลุ่มทุนข้ามชาติผูกขาดได้ในอนาคต” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามเสนอให้มีการพิจารณาอนุญาตให้พืชจีเอ็มโอสามารถทดลองได้ในพืชบางชนิด ต่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เเละรองหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์พืช 4 ชนิด (ข้าวโพด อ้อย ปาล์ม มันสำปะหลัง) ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคม เตรียมเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการผลักดันดังกล่าว เเละจะจับตามองการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด .



เรวัติ  น้อยวิิจิตร  สุพรรณบุรีนิวส์ rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น