ตุลาการศาลชั้นต้นทั่วประเทศ สัมมนา “ การพัฒนาศาลปกครองในอนาตต” ไม่ขัด สปช.- กมธ.ปฏิรูปสิ่งแวดล้อม เสนอตั้งศาลชำนาญพิเศษดูแลคดีสิ่งแวดล้อมทางอาญา-แพ่ง ไม่รวบคดีปกครอง ระบุการตรวจสอบรัฐ-ฝ่ายปกครองใช้อำนาจกม.สิ่งแวดล้อม ต้องศาลปกครอง เหตุส่วนใหญ่เกี่ยวกม.มหาชน ต่างคดีอาญา-แพ่ง ยกประสบการณ์ผ่านมาหลายคดีวางหลักถูกต้องให้รัฐ อนาคตหากตั้งศาลเฉพาะ พร้อมร่วมงานแบบบูรณาการ 2 ศาล ไม่รวบอำนาจศาล
ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมโครงการสัมมนาตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ประจำปี ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 21 - 23 ส.ค.นี้ ภายใต้หัวข้อสัมมนาเรื่อง “ การพัฒนาศาลปกครองในอนาคต”
โดยการสัมมนามี 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การพัฒนากระบวนพิจารณาคดี และการบังคับตามคำพิพากษา 2.การพัฒนาการบริหารจัดการคดี และคุณภาพของคำพิพากษาและคำสั่ง และ 3.การพัฒนาองค์กรศาลและตุลาการ จริยธรรม วินัย ความรับผิด และระบบการประเมินตุลาการ ซึ่งการสัมมนาตุลาการ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมองในทุกมิติที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของศาลปกครอง เพื่อการพัฒนาศาลปกครองนำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมทางปกครองที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ระบบบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารงานภาครัฐ และต่อสังคมประเทศชาติ
ขณะที่การสัมมนาตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ ได้ระดมความคิดเห็น กับกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.) และคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เห็นชอบให้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง และเป็นศาลชำนัญพิเศษในศาลยุติธรรมด้วย ซึ่งมีการเผยแพร่เอกสารผลการสัมมนาดังกล่าว ระบุว่า
คณะตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศได้พิจารณาเห็นว่า เรื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและการสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ศาลปกครอง จึงสนับสนุนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปในด้านดังกล่าว รวมถึงการสนับสนุนแนวคิดให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ที่จะสามารถบูรณาการการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งทางอาญาและแพ่งไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ในการทำให้เอกชนผู้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและได้ก่อให้เกิดความเสียหาย จะต้องรับผิดชดใช้เยียวยาความเสียหายในทางแพ่งและได้รับโทษในกรณีที่เป็นความผิดอาญา ไปในคราวเดียวกัน
แต่หลักคิดและระบบกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่รัฐ จะต้องเป็นผู้ให้หลักประกันให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการปกป้องรักษา คุ้มครองดูแล และส่งเสริมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐจึงมีหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนมากเป็นกฎหมายมหาชน หรือกฎหมายปกครองทั้งสิ้น ดังนั้นการพิจารณาพิพากษา ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐหรือฝ่ายปกครอง จึงเป็นข้อพิพาททางปกครองโดยแท้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครอง ไม่ใช่องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างเดียวกับข้อพิพาทในทางอาญาและทางแพ่ง
โดยที่ผ่านมาศาลปกครอง ก็ได้พิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้สร้างสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาเวลานานพอสมควร และมีการพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ปรากฏผลสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายคดี รวมทั้งการวางหลักในการใช้อำนาจหรือการดำเนินการของฝ่ายปกครองให้เป็นไปโดยถูกต้องเหมาะสม
ดังนั้น ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ จึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ ที่จะให้มีการแก้ไขเยียวยาข้อพิพาทที่เป็นคดีสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศาลยุติธรรมหรือศาลชำนัญพิเศษ ที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งจะเป็นผู้บูรณาการการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในทางอาญาและทางแพ่ง กับศาลปกครองซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในทางปกครองให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำนักประชาสัมพันธ์ ศาลปกครองกลาง
เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณบุรีนิวส์ rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น