วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สุพรรณบุรี ผู้สื่อข่าว รายงาน ชาวบ้านนับ 100 แห่จับปลาบึงบ้านโพธิ์ หลังฝนตกน้ำเน่า




             จากกรณีน้ำในบึงบ้านโพธิ์  กว่า 1,269 ไร่ ระยะทางยาวกว่า 8 กิโลเมตร เกิดเน่าเสียทำให้มีปลานาๆ ชนิด ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ขาดออกซิเจน ปรับสภาพไม่ทันน็อกตายกว่า 2 ตัน ตามที่เสนอไปแล้วนั้น   ความคืบหน้า เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 29 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายวิรัตน์ คำหอมกุล นายกเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ อ.เมืองสุพรรณบุรี ว่ามีชาวบ้านกว่า 100 คนใช้อุปกรณ์ชนิดต่างๆ มาจับปลาในบึงบ้านโพธิ์ กันอย่างสนุกสนาน แต่ละคนได้ปลาไปเป็นจำนวนมาก






              จึงเดินทางไปตรวจสอบก็พบกับชาวบ้านซึ่งมาจากต่างหมู่บ้าน ใช้อุปกรณ์มีทั้ง แห ตาข่ายดักปลา ฉมวก ปืนลูกดอก ออกเดิน ไปหายิงปลา จับปลาที่ลอยหัวขึ้นมาหายใจ ในพงหญ้าริมบึง บางรายใช้เรือลงไปในบึง ทอดแหกลางบึง โดยแต่ละคนได้ปลาชนิดต่างๆ มีทั้งปลา ยี่สก ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาเค้า ปลากด ปลานิล แต่ละตัวน้ำหนักตั้งแต่ ครึ่งกิโลกรัม ไปจนถึง 10 กิโลกรัม หลังจากได้ปลาต่างพากันนำไปขายให้กับพ่อค้า แม่ค้าในตลาดเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี กันอย่างคึกคักซึ่งปลาที่ชาวบ้านจับไปได้ทั้งหมดรวมน้ำหนัก กว่า 2 ตัน




               ทางด้านนายวิรัตน์ คำหอมกุล นายกเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์  กล่าวว่าที่บึงบ้านโพธิ์ แห่งนี้เป็นกักเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้การอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน หลังจากที่มีฝนตกในพื้นที่ติดต่อกันหลายวันทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประกอบกับทางชลประทานได้ปล่อยน้ำมาจากทางเหนือทำให้ปริมาณน้ำ ไหลเข้ามาในบึงบ้านโพธิ์ จำนวนมากและเร็วจนท่วมหญ้าที่ขึ้นอยู่ในบึง จนทำหญ้าที่ขึ้นในบึงช่วงหน้าแล้งเน่าส่งกลิ่นเหม็นไหลจากนั้นเมื่อวันที่ 28 ก.ค. น้ำได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ ซึ่งมีปลานานาชนิดจำนวนมากเกิดการน็อกน้ำตาย ชาวบ้านที่ทราบข่าว่างพากันมาจับไปขายซึ่งทางเทศบาลไม่ได้ห้ามแต่อย่างใดเพราะถ้าห้ามปลาก็ตายและเน่าเสียโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นจึงปล่อยให้ชาวบ้านจับกันอย่างอิสระ เพื่อจะได้นำไปขายมีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัวบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง





             โดยในเบื้องต้นได้สั่งสาร อีเอ็ม (EM) ประมาณ 100,000 ลิตรเพื่อนำมาปรับสภาพน้ำพร้อมกับให้เจ้าหน้าที่เทศบาลติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำ จะได้ช่วยลดการตายของปลาแต่เนื่องจากน้ำเน่าเสียมีปริมาณมาก ดังนั้นตนจึงได้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อใช้ระบบน้ำดีมาไล่น้ำเสียมาช่วยอีกทางคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้สถานการณ์คงจะดีขึ้น






   ภัทรพล  พรมพัก/ศูนย์ข่าวสุพรรณบุรี
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น