วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วช.นำสื่อเจาะลึกข้าวโพดไร่สุวรรณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา


สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมงานวิจัยพัฒนาและการผลิตข้าวโพด โดยเฉพาะเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์สุวรรณ 4452 ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ หรือ ไร่สุวรรณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ตามโครงการสื่อมวลชนสัญจร ปี 2560 ครั้งที่ 1 โดยหวังให้สื่อรับรู้และเข้าใจ กระบวนงานวิจัยพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชน 
 



นายธีรวัชร์ พรสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านระบบวิจัย วช. ประธานเปิดโครงการฯ กล่าวว่า การเกษตรเป็นรากลึกของประเทศไทย ที่สามารถช่วยฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจในยามวิกฤตของประเทศได้ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และมีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 46,000 ล้านบาท แต่ปริมาณ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อันเนื่องมาจากปัญหาต่าง ๆ อีกทั้งข้าวโพดอาจ เป็นทางเลือกหนึ่งของพืชทดแทนการปลูกข้าวของชาวนา ในภาวะะที่ราคาข้าวตกต่ำ ดังนั้น การพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และให้ความรู้ด้านองค์ประกอบเกี่ยวกับเทคโนโลยีแก่เกษตรกร จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ วช.ต้องให้การสนับสนุน ทั้งนี้ การนำสื่อมวลชนพบปะนักวิจัยและ เยี่ยมชมผลงานในพื้นที่นับเป็นประโยชน์มาก ในการเป็นสื่อกลางเผยแพร่ข้อมูลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
 


ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ หัวหน้า โครงการวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์ข้าวโพด และข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลในงานวิจัยข้าวโพดของไร่สุวรรณ ว่า มีทั้งข้าวโพดฝักอ่อนและข้าวโพดหวานหรือพันธุ์อินทรีที่เป็นความต้องการของตลาดอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีข้าวโพดสีม่วง ส่วนใหญ่นิยมนำไปแปรรูปเป็นแป้งทำขนมต่างๆ และใช้ทำเป็นสีผสมอาหาร ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มีการวิจัยพัฒนามาอย่างยาวนาน ล่าสุดคือพันธุ์สุวรรณ 4452 ซึ่งได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์สำเร็จเมื่อปี 2544 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้ฝักใหญ่ เมล็ดมีสีส้ม หัวแข็ง ทนแล้งทนฝนได้ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ ต้านทานโรค แกนเล็ก มีปริมาณเนื้อถึงร้อยละ 82 ราคาถูกกว่าพันธุ์การค้าในท้องตลาด เกษตรกรมีความต้องการ เมล็ดพันธุ์สูงมาก แต่ผลิตได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากศูนย์ฯ มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ และต้องผลิตเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ด้วย จึงถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามแนวทางของ วช.ให้เกษตรกรนำแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ไปผลิตเมล็ดพันธุ์ในรูปแบบอุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี รวมทั้งร่วมมือกับสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมาในการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก  

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการวิจัย เชื่อว่า ในอนาคตจะเกิดเกษตรกร 4.0 ซึ่งเป็นรุ่นลูกหลานของเกษตรกรที่มีทั้งความรู้ในเทคโนโลยีการผลิต รู้จักมาตรฐาน มีเครือข่าย และกำหนดตลาดเองได้ โดยเกษตรกรเหล่านี้ ควรเรียนรู้การปลูกข้าวโพดอินทรี เนื่องจากตลาดใหญ่ในอนาคต คือตลาดออแกนิค หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่มีปริมาณความต้องการมากในต่างประเทศ





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่าย ปชส.วช. รายงาน   
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น