จังหวัดสระบุรีจัดแถลงข่าวงานประเพณีล้ำค่าหนึ่งเดียว “ ย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ประจำปี 2560 ”
จังหวัดสระบุรี จัดให้มีการแถลงข่าวงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทานประจำปี 2560 โดยนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ราชการจังหวัดสระบุรี พระครูศรีวรกิจจารักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาท เจ้าคณะอำเภอมวกเหล็กนายชนัตถ์ นันทปัญญา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพระพุทธบาท พ.ต.อ.ฐนธรณ์ คงชีพ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี และนางสาวนารีรัตน์ อุทัยแสงสกุล ประธานเครือข่ายโอทอปสระบุรี ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “ย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ประจำปี 2560”โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
โดยสาระสำคัญของการแถลงข่าว เพื่อบอกกล่าวให้ชาวไทยได้ทราบ ได้รู้จักงานประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวสระบุรี กับงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและประเพณีล้างเท้าพระ ณ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี สำหรับประวัติดอกเข้าพรรษาที่มาของประเพณี ตามตำนานกล่าวไว้ว่าในสมัยโบราณนั้นพุทธศาสนิกชน มาทำบุญตักบาตรในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และนิยมทำบุญตักบาตรที่ วัดพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็นระยะเวลารวม 3 วัน หากปีใดเป็นปีที่มีเดือน 8 สองหน จะถือเอาเดือน 8 หลัง แล้วไปทำบุญตักบาตรเข้าพรรษา 3 วัน และวันขึ้น 15 ค่ำเพ็ญกลางเดือน 8 ชาวบ้านในสมัยนั้น ช่วงเช้า จะนำอาหารคาว-หวาน ไปทำบุญตักบาตรที่ วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร หลังจากทำบุญตักบาตรเสร็จแล้ว บรรดาหนุ่มๆสาวๆ จำนวนมากจะพากันเดินขึ้นไปบนภูเขา "โพธิ์ลังกา และภูเขาพุกร่าง "ภูเขาที่อยู่ในพื้นที่อำเภอพระพุทธบาท เพื่อหาดอกไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อดอกเข้าพรรษา จากนั้นจะนำมาจัดมัดเป็นกำๆพร้อมเสียบดอกไม้ธูปเทียนเตรียมใส่บาตรในวันรุ่งขึ้น คืนวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตแล้วนำเอาดอกไม้ขึ้นไปบูชา "รอยพระพุทธบาท” เมื่อเดินลงกลับมาอีกทางหนึ่ง พุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดใส่ภาชนะไปล้างเท้าพระสงฆ์ และพระสงฆ์จะเข้า พระอุโบสถ ปวารณาตลอดไตรมาส 3 เดือน ดอกเข้าพรรษาเป็นดอกไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีเฉพาะในพื้นที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีชื่อเรียกตามศัพท์ของพรรณไม้เรียกว่า ดอกหงส์เหิน จะมีสีม่วงและสีขาว ส่วนดอกสีเหลือง ชื่อดอกพวงทอง จะมีลำต้นคล้ายต้นข่าหรือต้นกระชายสูงประมาณ 1 ฟุต มีหัวอยู่ใต้ดินคล้ายหัวกระชายอีกเช่นกัน หลังเทศกาลเข้าพรรษาลำต้นจะโทรมลงเหี่ยวแห้งไปในที่สุด แต่ชาวบ้านเรียกกัน ติดปากมาแต่สมัยโบราณว่า "ดอกเข้าพรรษา” นอกจากนี้ ยังออกดอกเฉพาะในช่วงเวลาใกล้เข้าพรรษาเท่านั้น
กำหนดจัดงาน วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 08.09 น. พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จ พระเจ้าทรงธรรมและพิธีถวายเทียนพรรษาพระราชทาน วันที่ 7 กรกฎาคม 2560เวลา 08.30 น. ถวายเทียนจังหวัดสระบุรี จำนวน 90 ต้น และภาคบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น. ร่วมพิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ ชมขบวนพยุยาตราสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เจ้าเมืองสระบุรีจำลอง , ขบวนเทียนพระราชทานและเทียนพรรษาจังหวัดสระบุรี , ขบวนรถบุปผชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ขบวนรถบุปผชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช และขบวนวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมกับพิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่ ส่วนวันที่ 8– 9 กรกฎาคม 2560 มีพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและล้างเท้าพระ ในรอบเช้า เวลา 09.00 น. และรอบบ่าย เวลา 15.00 น. โดยภายในงานมีกิจกรรมประกวดประดิษฐ์ดอกไม้ใบตอง สอนอาชีพ การจัดนิทรรศการดอกเข้าพรรษา , สินค้าโอทอป จังหวัดสระบุรี , การแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลและตระกร้อ , การแสดงดนตรีการขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์และการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและพี่น้องประชาชน ร่วมส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ ของจังหวัดสระบุรี ตามวัน เวลา สถานที่ดังกล่าว เพื่ออนุรักษ์ "ประเพณีหนึ่งเดียวในไทย ใหญ่ที่สุดในโลก” ให้คงอยู่สืบต่อไป
(คนธรรมดา ม้าตัวเดียว) บรรณาธิการข่าว
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น