วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วช.ประกาศผลรางวัลอากาศยานไร้คนขับ สิ่งประดิษฐ์คิดค้นแห่งโลกอนาคต






สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ประกาศผลรางวัลการประกวดแข่ง "อากาศยานไร้คนขับ" สิ่งประดิษฐ์คิดค้นแห่งโลกอนาคต ขณะที่ผู้ร่วมแข่งขัน ยืนยันจะต่อยอดเทคโนโลยีนี้ให้ใช้งานจริงดียิ่งขึ้น  









ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่นำ "อากาศยานไร้คนขับ" ( Unmanned Aerial Vehicle ) หรือ UAV จากงานวิจัยที่มีการพัฒนา มาใช้งานจริงในสภาพภูมิอากาศที่ต่างจาก ในห้องทดลอง เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านต่าง ๆ โดย วช.และวงการวิจัยของประเทศได้ดำเนินการมาเป็นระยะ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมของประเทศ ที่ผ่านมา วช.ได้สนับสนุนทุนวิจัยพัฒนา UAV จนสถาบันการศึกษาและผู้ใช้งาน เริ่มเห็นว่าใช้งานได้จริงสามารถต่อยอดพัฒนาให้ก้าวหน้าและมีราคาถูก เช่น การพัฒนาความเร็ว การบรรทุกของ การพัฒนาแบตเตอรีให้ใช้งานได้นาน และวิธีบังคับให้มีความแม่นยำ เพื่อไม่ให้ละเมิดกฎหมาย โดย วช. ได้ร่วมกับกองทัพบก สถานีโทรทัศน์ Thai PBS และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดการประกวดการแข่งขัน UAV ขึ้น ระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2560 ณ สนามบินมณฑลทหารบกที่ 14 ภายในค่ายนวมินทราชินี กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อให้เกิดการพัฒนา UAV สิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่จะทำให้ประเทศไทยมีความหวังและอนาคตที่ดี โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละบุคคล พัฒนาและยกระดับไปสู่ Thailand 4.0  




สำหรับผลการประกวดการแข่งขัน UAV รอบตัดสิน รางวัลชนะเลิศในแต่ละด้าน มีดังนี้

1.ด้านความมั่นคง ทีม " โดรนยุทธการและควบคุมฝูงชน" จาก โรงเรียนจ่าอากาศ โดยทีมนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ Champ of The Champ ด้วย เนื่องจากได้คะแนนสูงสุด
2. ด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีม "อุทยานแห่งชาติ" จาก อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
3. ด้านการเกษตร ทีม"โดรนเพื่อเกษตรอินทรีย์" จาก กรมวิชาการเกษตร 4 ด้านคมนาคม ทีม "นเรศวร" จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  




ทั้งนี้ ทีมชนะเลิศ Champ of The Champ จาก โรงเรียนจ่าอากาศ ได้กล่าวขอบคุณ ผู้สนับสนุนทั้ง วช.และกองทัพบก โดยระบุว่า UAV ที่ได้ รับรางวัลเป็นนวัตกรรมที่เน้นการใช้ประโยชน์ใน 3 ภารกิจ คือ การส่องเวลากลางคืน การปล่อยระเบิด และการกระจายเสียง พร้อมเตรียมพัฒนาต่อยอด UAV ให้มีระบบออโต้ และจะใช้วัสดุคุณภาพเพื่อให้ใช้งานดียิ่งขึ้น




ขณะที่ทีมน้องใหม่จากวิทยาลัยเทคนิค วาปีปทุม จังหวัดมหสารคาม ซึ่งเข้าร่วมประกวดแข่งขัน UAV เป็นครั้งแรก ได้กล่าวแสดงความรู้สึกว่า แม้ไม่ได้รับรางวัล ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น โดยจะกลับไปพัฒนาเทคโนโลยี UAV ให้ดียิ่งขึ้น และอยากให้ วช.สนับสนุนทุนวิจัยต่อไป







จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น