วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

นิ้วล็อค มหันตภัยใกล้ตัว ที่ใครเจอแล้วจะต้อง ... หนาว !!




เมื่อปลายปี 2561 ผมได้เจอเข้ากับตัวเอง " นิ้วล็อค " ทีแรกก็ไม่รู่ว่าเป็นอะไร ตื่นเช้ามารู้สึกปวดที่นิ้วมือข้างขวามาก ปวดและงอนิ้วไม่ได้ นิ้วมือข้างขวาเกร็งแข็งไปหมด ใช้มือข้างซ้ายพยายามที่จะงอนิ้วออก แต่มันเจ็บปวดมาก พอกางนิ้วออกได้ ก็กำมือเข้าไม่ได้ ความรู้สึกขณะนั้น ตกใจ .. คิดในใจว่า เราเป็นอะไรว๊ะเนี่ย มือเราไปโดนอะไรมา รับอาบน้ำแต่งตัวมาที่ตัวเมือง เข้าร้านยา  เภสัชกร บอกว่่า .. เขาเรียกว่านิ้วล็อค  และแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อทำกายภาพบำบัด พร้อมจัดยาชุด  แก้อาการนิ้วล็อค มาให้ทานประมาณ 1 สัปดาห์

            ทีแรกก็เข้าใจว่าทานยาหมดก็น่าจะหาย แต่กาลกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เดือนแล้ว เดือนเล่า ก็พบแต่ความเจ็บปวดทรมาน ตื่นเข้ามา พร้อมกับการปวดนิ้วมือ พยายามหาสมุนไพรมานวด ตามที่เพื่อนๆแนะนำ ความเจ็บปวดทรมานก็ทุเลาไปบ้าง แต่ก็ไม่หาย จนเวลาล่วงเลยเข้ามาครึ่งปี 14-16 พฤษภาคม 2562 ได้มีโอกาสเข้ารับการรักษาตัว โดยการฝังเข็ม ที่แผนกแพทย์แผนจีน โรงพยาบาลศุภมิตร จ.สุพรรณบุรี 



             แพทย์จีนสุกิจ นราธนากร บอกกับผมว่า .. โรคนี้เป็นโรคท็อปฮิต เป็นกันมาก เป็นได้กับทุกคน แต่รักษาได้ไม่ยาก ทำไมถึงปล่อย ให้ต้องเจ็บปวด ทรมาน มาถึงครึ่งปีแบบนี้ล่ะ ถ้ามาพบหมอเสียตั้งแต่แรกก็หายไปนานแล้ว ...

เราเองก็ย้อนไปนึกถึงคำพูดของเพื่อนๆหลายคนที่เป็น นิ้วล็อค หลายคนบอก .. ไปมาหมดแล้ว ไม่หาย ฉีดยาเข้าที่นิ้วมือ ฝังเข็ม ทำกายภาพ แช่ในน้ำอุ่น ตอนนี้ดีสุดก็แค่ ทุเลา การเจ็บปวดไปบ้างเท่านั้น ถ้าจะให้หายจริงๆ ต้องผ่าตัด ซึ่งดูแล้ว เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าจะต้อง ผ่าตัด

ผมเลยตอบหมอไปว่า .. ไม่ทราบว่า การฝังเข็ม จะรักษา นิ้วล็อคได้ครับ หมอยิ้มอย่างใจดี บอก มาหาหมอสัก 3 ครั้งนะ แล้วจะหาย 14 พฤษภาคม 2562 คือวันแรกที่พบหมอ ตรวจเบื้องต้น โดยการตรวจชีพจร ดูที่ลิ้น คุณหมอบอก ระบบย่อยอาหาร ไม่ดีด้วยนะ แต่เดี๋ยวหมอจะรักษา ให้พร้อมกันไปเลยทีเดียว





      แพทย์จีนสุกิจ นราธนากร ให้ผมนั่งที่เก้าอี้ และเริ่มกระบวนการฝั่งเข็ม ที่ศีรษะ จำนวน 8 เล่ม ทีแรกคิดว่าจะต้องเจ็บมาก ซึ่งคุณหมอก็ถามตลอดเวลาของการแทงเข็มเข้าที่ศีรษะ ว่าเจ็บไหม ผมบอกไปตามจริงว่า นิดหน่อยครับ อาจเป็นเพราะเข็ม บางและเล็กมาก จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ หลังจากเสร็จกระบวนการฝังเข็มที่ศีรษะ


            แพทย์จีนสุกิจ นราธนากร ก็ยื่นมือแล้วบอกให้ผมกำแน่นๆ ผมรู้สึกว่ามันปวดมากที่จะบีบมือคุณหมอให้แน่นๆ คุณหมอบอก มันเรื้อรังมานาน แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย คุณหมอถามต่อ เวลาบีบมือหมอจะปวดใช่ไหม ผมพยักหน้ารับ ก็มันปวดจริงๆ งั้นเดี๋ยวหมอจะให้ยาสมุนไพรจีน แก้ปวดไปกินด้วย จะได้หายปวดเร็วขึ้น




           คุณหมอบอก เอาเข็มค้างไว้ก่อนนะ ให้ได้สัก 3 ชั่วโมง ค่อยเอาออก เดี๋ยวจะให้พยาบาลสอนวิธึถอนเข็มออกให้ จะได้กลับไปทำงานอื่นต่อได้ ซึ่งพอพยาบาลมาสอนวิธีถอนเข็มออก ก็รู้สึกว่ามันไม่ยาก แบบนี้ คนที่บ้านทำได้สบายมาก




           คุณหมอบอกระบบย่อยอาหาร ไม่ค่อยดีนะ ต้องเว้นของทอด  ของมันๆลงบ้าง  เดี๋ยวไขมันจะสูง  ไม่ดี หมอจะฝังเข็มที่ท้องให้ด้วยสัก ครึ่งชั่วโมงนะ จะช่วยระบบย่อย ให้ดีขึ่น พอได้เวลาหมอจะเอาเข็มออกให้ แล้วก็กลับได้ เหลือไว้แต่เข็มที่ศีรษะ ให้ได้สัก 3 ชั่วโมง ค่อยไปเอาออกเองที่บ้านนะ




           ผมงีบหลับไปมารู้สึกตัวอีกที เมื่อได้ยินเสียง คุณหมอบอกว่า ได้เวลาแล้วนะ เดี๋ยวหมอจะเอาเข็มที่ท้องออกให้นะ ผมไม่รู้ว่าที่ท้อง คุณหมอฝังเข็มกี่เล่ม เพียงแต่ได้ยินเสียงถามตอนฝังเข็มว่า ข้างขวาใช่ไหม มือที่เป็น จึงทำให้นึกว่า เข็มที่ท้องอาจไปเกี่ยวข้องกับอาการที่ นิ้วล็อคด้วยมั๊ง  แต่ก็ไม่ได้ถาม



            นอกจากการฝังเข็มที่ศีรษะ  ที่ท้อง  คุณหมอยังฝังเข็มที่บริเวณ  ข้อเท้า และ นิ้วเท้าด้วย  ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษา นิ้วล็อค และระบบย่อย หรือไม่ แต่ก็ไม่กล้าถาม คงปล่อยหน้าที่การ เยียวยารักษา ให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอ  เป็นผู้ตัดสินใจ หลังจากได้ตรวจดูอาการโดยรวมจากการจับชีพจร ดูลิ้น และให้ยืนดูการทรงตัวแล้ว




                 

วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 พบคุณหมอตอนบ่ายโมง คุณหมอถามเป็นไงบ้างดีขึ้นไหม ปวดน้อยลงไหม เมื่อวานใครถอนเข็มออกให้ ผมตอบไปตามจริงว่า รู้สึกเบาลงนิดหน่อยครับ เมื่อวาน คนที่บ้านถอนเข็มให้ ตอนค่ำๆ
แพทย์จีนสุกิจ นราธนากร เริ่มกระบวนการรักษา เหมือนวันแรก คือตรวจชีพจร ดูลิ้น แล้วบอกกับผมว่า ดีขึ้นนี่ แล้วก็เริ่มฝังเข็มบนศีรษะ เป็นวันที่สอง จากนั้น ก็ให้ผมกำมือคุณหมอ บีบแน่นๆ ความรู้สึกบอกว่า มันบีบได้แน่นขึ้นกว่าเมื่อวาน คุณหมอถามว่ายังเจ็บอยู่ไหม ผมตอบไปตามจริง ยังเจ็บอยู่ครับ คุณหมอบอกแต่บีบได้แน่นขึ้นนะ




วันนี้ 16 พฤษภาคม 2562 พบคุณหมอตอนบ่ายโมงเช่นเคย คุณหมอถามว่าเป็นไงบ้าง กำมือให้ดูซิ พอออกแรงกำมือ ก็รู้สึกได้ว่า เรากำมือได้แล้วนี่ แต่ยังเหลืออาการเจ็บอยู่เล็กน้อย คุณหมอให้ลองบีบมือ คุณหมอดู แล้วก็หันมาบอกว่า หายแล้วนี่ ยังเจ็บอยู่ไหม ก็บอกไปว่า เล็กน้อยครับ

จากนั้นคุณหมอก็เริ่มกระบวนการฝังเข็ม ที่ศีรษะ ที่ท้อง ที่ข้อเท้า และ ที่นิ้วเท้า เหมือนสองวันแรก ประมาณครึ่งชั่วโมง หลังการถอดเข็มที่ท้อง ที่ข้อเท้า และ นิ้วเท้าออกหมดแล้ว ก็บอกว่า .. ไปทนเจ็บอยู่ได้ ตั้งครึ่งปี ถ้ามาหาผม ตั้งแต่เป็นทีแรก เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็หายไปนานแล้ว พร้อมกับยิ้มให้อย่างมีไมตรี พร้อมกำชับว่า หมอให้ยาไปด้วย 20 เม็ด จะช่วยให้หายเจ็บกินให้หมดนะ เป็นสมุนไพร นำเข้าจากจีน ไม่มีอันตราย


เรื่องนิ้วล็อค ก็จบลงอย่างแฮปปี้ เอนดิ้ง จึงอยากนำเผยแพร่ เป็นวิทยาทาน แก่ผู้ที่กำลังเป็นอยู่ว่า นิ้วล็อค รักษาให้หายได้ ด้วยการฝังเข็ม ตามตำรับแพทย์แผนจีนโบราณ อย่าทนเจ็บปวดทรมาน เพื่อที่จะให้มันหายเอง เพราะมันจะไม่หายเอง ต้องมารักษาครับ

♦️ฝังเข็มบริเวณผิวศีรษะ Scalp Acupuncture

📌📌ฝังเข็มบริเวณผิวศีรษะ คืออะไร

เป็นวิธีการฝังเข็มที่ถูกพัฒนาจากทฤษฎีแพทย์จีนโบราณซึ่งจะเน้นการใช้เข็มฝังรักษาในบริเวณตำแหน่งช่องว่างระหว่างผิวหนังศีรษะกับส่วนผิวกระดูกกระโหลกศีรษะ โดยอุปกรณ์ที่ใช้เป็นเข็มขนาดเล็กและบาง ความลึกในการแทงเข็มจะตื้น0.50-0.70 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้คนไข้ไม่เจ็บหรืออาจเจ็บเพียงเล็กน้อยและไม่เกิดผลข้างเคียงในการรักษา

👉🏻โรค/อาการ กับ การฝังเข็มแบบ Scalp Acupuncture

🔹โรคหลอดเลือดสมอง🔹

โรคหลอดเลือดสมองอุดตีบตันและเส้นเลือดสมองแตกเป็นโรคที่อันตรายและมีโอกาสเกิดซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้งกับผู้ป่วย เป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคอัมพฤตอัมพาตผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวไม่ได้หรือมีเคลื่อนไหวที่ผิดปกติซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยทั้งทางกายและจิตใจ ในรายที่รุนแรงสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีฝังเข็มบริเวณผิวศีรษะนั้นสามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่วันแรกที่เกิดอาการจนถึงระยะ6เดือนแรกการรักษาสามารถป้องกันภาวะเฉียบพลันที่มีโอกาสเกิดซ้ำกับผู้ป่วยในระยะเฝ้าระวังโรคและสามารถฟื้นฟูร่างกายหลังจากภาวะเฉียบพลันเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ในผู้ป่วยที่มีอาการมากกว่า6เดือนสามารถช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยให้สามารถช่วยตัวเองในชีวิตประจำวันได้

🔹อาการปวด🔹

บริเวณส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นการปวดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจากการออกกำลังกาย อาการปวดศีรษะจากปัจจัยต่างๆ อาการปวดจากโรคออฟฟิตซินโดรม อาการปวดจากโรคไขข้อเสื่อมหรืออักเสบ ของร่างการการฝังเข็มบริเวณผิวศีรษะร่วมด้วยการกระตุ้นด้วยกายบริหารเป็นการรักษาที่ให้ผลรวดเร็วและผลการรักษาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในขณะที่รักษา การฝังเข็มบริเวณผิวศีรษะนั้นไม่เจ็บและไม่เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วย จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาอาการปวดเรื้อรังที่สามารถห่างไกลการทานยาแก้ปวดต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

🔹โรคทางอายุรกรรม🔹

โรคเรื้อรังที่พบบ่อยมีพื้นฐานมาจากความเสื่อมของร่างกายสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคได้ด้วยวิธีฝังเข็มบริเวณผิวศีรษะ อาทิโรค ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ผิวหนัง ระบบประจำเดือนผิดปกติ ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ โรคนอนไม่หลับ ใจสั่น อ่อนเพลียหรือการฟื้นฟูผู้ป่วยหนักจากอาการผิดปกติต่างๆ เป็นต้นการฝังเข็มบริเวณผิวศีรษะจะช่วยฟื้นฟูระบบการทำงานของอวัยวะภายในให้กลับมามีประสิทธิภาพและสามารถแก้ปัญหาต้นตอของอาการที่เกิดขึ้นได้จากต้นเหตุ ทำให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มการของร่างกายผู้ป่วย โดยรักษาต่อเนื่องเป็นประจำสัปดาห์ละ2-3ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์

รับบริการการรักษา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการฝังเข็ม ผิวศรีษะและฝังเข็มแนวใหม่ ได้ที่ โรงพยาบาลศุภมิตร สุพรรณบุรี ศูนย์สุขภาพ ศุภมิตร โทร 035-523777 และกรุงไทยคลีนิกเวชกรรม เยาวราช โทร ‭02-234-0483‬ - แพทย์จีนสุกิจ นราธนากร **กรุณานัดหมายล่วงหน้า

#ฝังเข็ม #acupuncture #แพทย์ทางเลือก #ชะลอวัย #ปรับสมดุล #ฮอร์โมน#สมุนไพรจีน#ครอบกระปุก


นิ้วล็อค

ความหมาย นิ้วล็อค

นิ้วล็อค (Trigger Finger) คืออาการที่นิ้วเกิดล็อคเมื่องอนิ้ว แล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ นิ้วก็จะเกิดอาการล็อค ไม่สามารถกลับมายืดตรงได้ตามปกติ
นิ้วล็อค
อาการของนิ้วล็อค
นิ้วล็อคมักเกิดขึ้นกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง หรือนิ้วนาง ทั้งนี้ อาการนิ้วล็อคอาจเกิดขึ้นกับนิ้วหลายนิ้วได้ในเวลาเดียวกัน หรืออาจเกิดขึ้นได้กับนิ้วมือทั้ง 2 ข้างด้วย โดยอาการนิ้วล็อคจะเกิดขึ้นเมื่อนิ้วใดนิ้วหนึ่งพยายามงอในขณะที่มือต้องออกแรงทำบางอย่าง เมื่อนิ้วล็อค อาจจะเกิดอาการดังนี้
  • รู้สึกดังกึกเมื่อต้องงอหรือยืดนิ้ว
  • เกิดอาการนิ้วแข็ง ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนเช้า
  • รู้สึกตึงและรู้สึกเหมือนมีบางอย่างนูนขึ้นมาตรงโคนของนิ้วที่ล็อค
  • นิ้วล็อคเมื่องอนิ้ว ซึ่งเกิดขึ้นทันทีที่ยืดนิ้วกะทันหัน
  • นิ้วล็อคเมื่องอนิ้วโดยไม่สามารถยืดนิ้วกลับมาได้
สาเหตุของนิ้วล็อค
เอ็นคือพังผืดที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูกไว้ด้วยกัน ซึ่งเอ็นและกล้ามเนื้อที่มือและแขนจะช่วยให้นิ้วมืองอและยืดได้ โดยเอ็นแต่ละส่วนถูกล้อมรอบไว้ด้วยปลอกหุ้มเอ็น อาการนิ้วล็อคจะเกิดขึ้นเมื่อปลอกหุ้มเอ็นตรงนิ้วอักเสบหนาตัวขึ้น ซึ่งทำให้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นตรงนิ้วไม่สามารถยืดหรืองอได้ตามปกติ
ปัจจัยที่เสี่ยงให้เกิดอาการนิ้วล็อคนั้น ได้แก่
  • การถือหรือแบกของนาน อาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำและทำให้มือรับน้ำหนักเป็นเวลานาน รวมทั้งทำซ้ำบ่อย ๆ เช่น ทำสวน ตัดแต่งต้นไม้ ใช้ไขควงทำงาน หรือใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงกด กิจกรรมลักษณะนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการนิ้วล็อค ซึ่งเกิดจากการใช้นิ้วมือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือลงน้ำหนักเยอะรวมทั้งทำกิจกรรมนั้นซ้ำๆ มักเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพชาวนา ชาวไร่ พนักงานโรงงาน ผู้ใช้แรงงาน และนักดนตรี เนื่องจากหน้าที่ของอาชีพเหล่านี้ทำให้ต้องใช้มือทำงานในลักษณะที่กล่าวมา นอกจากนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ก็สามารถเกิดอาการนิ้วล็อคได้ โดยนิ้วโป้งจะล็อค เพราะต้องใช้งานในการจุดไฟแช็คบ่อย อย่างไรก็ดี อาการนิ้วล็อคมักพบได้ทั่วไปในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดกับผู้ที่มีอายุ 40-60 ปี
  • ปัญหาสุขภาพ บางครั้งอาการนิ้วล็อคอาจเกี่ยวข้องกับการป่วยด้วยโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อที่มือ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคเกาต์ เบาหวาน โรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) และโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ก็เสี่ยงต่อการเกิดอาการนิ้วล็อค โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการของโรคที่ตนป่วยขึ้นร่วมด้วย
การวินิจฉัยนิ้วล็อค
หากพบว่าเกิดอาการข้อต่อตรงนิ้วแข็งหรือล็อค ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจมือและวินิจฉัย และหากข้อต่อนิ้วเกิดอาการแสบร้อนหรืออักเสบก็ควรรักษาทันที เนื่องจากอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณบอกว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อได้ โดยแพทย์ที่ทำการวินิจฉัยอาการนิ้วล็อคมักเป็นแพทย์ทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และอายุรแพทย์
การวินิจฉัยนิ้วล็อคนั้นไม่ต้องทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์หรือการตรวจในห้องปฏิบัติการ ขั้นแรกแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติการรักษาของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายปกติ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยลองกำมือแบมือ เพื่อดูว่าผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บบริเวณใด สามารถกำมือแบมือได้ตามปกติหรือไม่ และเกิดอาการนิ้วล็อคตรงไหน ทั้งนี้ แพทย์อาจคลำมือผู้ป่วยเพื่อดูว่าเกิดก้อนที่มือหรือไม่ โดยก้อนบนมือที่เกี่ยวข้องกับอาการนิ้วล็อคนั้นจะเคลื่อนไปตามที่นิ้วมือเคลื่อนไหว เพราะก้อนดังกล่าวยึดอยู่กับเอ็นที่ติดกับนิ้ว
การรักษานิ้วล็อค
ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคบางรายอาจมีอาการดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาอาการนิ้วล็อคนั้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้
  • การบำบัด อาการนิ้วล็อคสามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่นอกเหนือไปจากการรับประทานยา ดังนี้
    • พักผ่อน พักมือจากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือออกแรงหรือแบกน้ำหนักมาก ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยเว้นกิจกรรมดังกล่าวเพื่อพักการใช้งานมืออย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
    • ประคบร้อนหรือเย็น ผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคบางรายอาจใช้วิธีประคบเย็นที่ฝ่ามือ ซึ่งช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้น นอกจากนี้ การแช่น้ำอุ่นก็บรรเทาอาการให้ทุเลาลงโดยเฉพาะหากทำในช่วงเช้า
    • ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว (Splinting) จะช่วยดามนิ้วให้ตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป อีกทั้งช่วยให้นิ้วได้พัก หากเกิดอาการนิ้วล็อคหรือนิ้วแข็งตอนเช้าเป็นประจำ แพทย์จะให้ใส่อุปกรณ์ดังกล่าวดามนิ้วไว้ตลอดคืน เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้นิ้วเกร็งหรืองอเข้าไปเองขณะที่ผู้ป่วยหลับ แม้วิธีนี้จะช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้นสำหรับผู้ป่วยบางราย แต่การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้วก็อาจได้ผลน้อยกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยต้องการวิธีรักษาที่เห็นผลในระยะยาว
    • ออกกำลังกายยืดเส้น แพทย์อาจจะแนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อช่วยให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ปกติ
  • การรักษาด้วยยา ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคสามารถรับประทานยาที่ต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ยาดังกล่าวไม่สามารถบรรเทาอาการบวมตรงปลอกหุ้มเอ็นนิ้วได้
  • การศัลยกรรมและกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อครุนแรง หรือวิธีรักษาด้วยยาและการบำบัดใช้ไม่ได้ผล อาการไม่ดีขึ้น อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการศัลยกรรมและกระบวนการทางการแพทย์วิธีอื่น ดังนี้
    • การฉีดสารสเตียรอยด์ การรักษาอาการนิ้วล็อคด้วยวิธีนี้เป็นการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งช่วยลดอาการบวมอักเสบของเอ็น และช่วยให้เอ็นนิ้วสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ โดยแพทย์อาจจะผสมยาชาในการฉีดสารดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บเมื่อทำการรักษา จัดเป็นวิธีรักษาที่พบได้ทั่วไป หลังจากฉีดสารสเตียรอยด์แล้ว แพทย์อาจให้ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว 2-3 วันเพื่อให้นิ้วได้พัก อาการนิ้วล็อคจะดีขึ้นภายในไม่กี่วันหลังจากรับการรักษา โดยทั่วไปมักอาการดีขึ้นหลังฉีดไปได้หลายสัปดาห์ การฉีดสารสเตียรอยด์เป็นวิธีรักษาที่ได้ผลประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจได้ผลน้อยกว่าหากผู้ที่รับการรักษาป่วยเป็นโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการรักษาบางรายอาจเกิดปัญหาอื่นขึ้นมาหลังได้รับสเตียรอยด์ ซึ่งอาจต้องมารับการฉีดสเตียรอยด์ครั้งที่ 2 อีกครั้งเมื่อปัญหานั้นหายไป แต่ประสิทธิภาพของยาก็จะน้อยกว่าการฉีดครั้งแรก ความเสี่ยงจากการฉีดสเตียรอยด์เพื่อรักษานิ้วล็อคปรากฏเพียงเล็กน้อย โดยผู้ที่รับการรักษาอาจผิวบางหรือสีผิวเปลี่ยนตรงบริเวณที่ฉีดสเตียรอยด์เข้าไป
    • การผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อค โดยศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดส่วนที่ปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วเกิดปัญหา และทำให้เอ็นนิ้วกลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติ โดยแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดจากระดับความรุนแรงของอาการและผลกระทบจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ การผ่าตัดสามารถรักษาอาการนิ้วล็อคได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้อยรายที่จะเกิดปัญหาหลังรับการผ่าตัด โดยทั่วไปผู้ป่วยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ แพทย์จะให้ยาชาก่อนผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บแผลผ่าตัดที่มือหลังจากฟื้นขึ้นมา การผ่าตัดรักษานิ้วล็อคประกอบด้วยการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือพิเศษ ดังนี้
      • การผ่าตัดแบบเปิด (Open Trigger Finger Release Surgery) แพทย์จะเริ่มฉีดยาชา ที่ฝ่ามือผู้ป่วย และผ่าตามแนวปลอกหุ้มเอ็นที่นิ้วให้เปิดกว้างออก หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะเย็บแผลและปิดด้วยผ้าพันแผลให้เรียบร้อย
      • การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือพิเศษ (Percutaneous Release) แพทย์จะฉีดยาชาที่มือผู้ป่วยเช่นเดียวการผ่าตัดแบบเปิด แต่การผ่าตัดด้วยเครื่องมือพิเศษนี้จะไม่ได้กรีดมีดผ่าตัดลงไปเหมือนวิธีแรก แต่จะสอดเข็มแทงเข้าไปบริเวณโคนนิ้วที่เกิดอาการล็อค และใช้ปลายเข็มสะกิดเอ็นนิ้ว โดยแพทย์อาจจะทำการผ่าตัดพร้อมด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่าปลายเข็มที่สอดเข้าไปใต้ผิวหนังนั้นเกี่ยวปลอกหุ้มเอ็นที่ต้องการโดยไม่ไปทำลายเอ็นหรือเส้นประสาทส่วนอื่นหรือไม่ แม้การผ่าตัดด้วยเครื่องมือพิเศษนี้จะไม่ทำให้เกิดรอยแผลเหมือนการผ่าตัดแบบเปิด แต่ถือว่าค่อนข้างเสี่ยงกว่าและอาจได้ผลน้อยกว่า เนื่องจากหลอดเลือดแดงและเส้นประสาทที่สำคัญอยู่ใกล้ปลอกหุ้มเอ็นมาก ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายได้ง่าย การผ่าตัดแบบเปิดจึงเป็นวิธีผ่าตัดรักษานิ้วล็อคที่ได้รับเลือกมากกว่า
สำหรับเด็กที่เกิดอาการนิ้วล็อคนั้น จะดีขึ้นเองเมื่อเด็กโตขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา โดยเด็กอาจใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้วหรือออกกำลังกายมือเพื่อช่วยยืดเส้น การรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์มักไม่ใช้รักษาอาการนิ้วล็อคที่เกิดในเด็ก แต่หากเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดแทน
ภาวะแทรกซ้อนของนิ้วล็อค
โดยทั่วไปแล้ว อาการนิ้วล็อคไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคก็อาจได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการผ่าตัด
แม้การผ่าตัดคือวิธีรักษาอาการนิ้วล็อคที่ปลอดภัย แต่การผ่าตัดศัลยกรรมทุกประเภทย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้ที่ได้รับการรักษา โดยผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังได้รับการผ่าตัดรักษานิ้วล็อค ดังนี้
  • ติดเชื้อ
  • นิ้วแข็งหรือเจ็บ
  • เกิดแผลเป็น
  • เส้นประสาทถูกทำลาย หากเส้นประสาทของผู้ป่วยถูกทำลายระหว่างรับการผ่าตัด นิ้วที่เกิดอาการล็อคอาจไม่ดีขึ้นเต็มที่หลังได้รับการรักษา
  • เอ็นนิ้วงอได้ไม่สุด เรียกว่าภาวะบาวสตริง (Bowstring) ซึ่งเกิดจากเอ็นอยู่ผิดตำแหน่ง
  • เกิดกลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน (Complex Regional Pain Syndrome: CRPS) หรือกลุ่มอาการซีอาร์พีเอส ซึ่งทำให้มือของผู้ป่วยปวดและบวมหลังได้รับการผ่าตัด หลังจากนั้นอาการดังกล่าวมักหายไปเองในไม่กี่เดือน ถึงอย่างนั้น กลุ่มอาการซีอาร์พีเอสก็สามารถเป็นปัญหาที่เกิดได้ถาวร
การป้องกันนิ้วล็อค
อาการนิ้วล็อคสามารถป้องกันได้โดยเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ออกแรงทำให้กล้ามเนื้อนิ้วหดหรืองออยู่นาน ๆ นอกจากนี้อาการนิ้วล็อคที่เกิดจากการป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ก็สามารถป้องกันได้ โดยเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคนั้น และเกิดอาการนิ้วล็อค ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) หยุดสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และเลี่ยงการอยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ เพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคข้อรูมาตอยด์
  • โรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อยู่ในช่วงไม่แสดงอาการนั้นควรใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่โรคกำเริบ โดยดื่มน้ำเปล่าและรับประทานอาหารโปรตีนสูงไขมันต่ำ จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอลล์และการรับประทานเนื้อสัตว์ ปลา และสัตว์ปีก รวมทั้งรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้คือทำกิจกรรมที่ช่วยกระจายแรงกดตรงข้อมือและช่วยให้มือและข้อมือได้เคลื่อนไหว โดยยืดข้อมือให้ตรงแล้วค่อย ๆ งอเข้า หรือเลี่ยงการงอหรือบิดข้อมือเป็นเวลานาน พักมือหรือเปลี่ยนท่าเมื่อต้องทำงานท่าเดิมนาน ๆ ทั้งนี้ หากไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อมือได้ อาจใส่อุปกรณ์ดามข้อมือไว้ขณะที่หลับ โดยเฝือกจะช่วยพยุงข้อมือ ไม่ทำให้ข้อมืองอเข้าหรือบิดออกมากเกินไป และช่วยลดแรงกดน้ำหนักไปที่นิ้วมือ มือ และข้อมือ
                                                  เรวัติ  น้อยวิจิตร  081-9107-445
ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์ ในกลุ่มสุพรรณบุรีนิวส์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น