วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มหาวิทยาลัยนเรศวรเปิดมิติใหม่แห่งการบูรณะพระราชวังจันทน์

มหาวิทยาลัยนเรศวรเปิดมิติใหม่แห่งการบูรณะพระราชวังจันทน์ เข้าถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม สู่การพัฒนาเป็นมรดกโลก “มหาวิทยาลัยนเรศวร” เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๒ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดพิษณุโลก ด้วยเป็นพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีประสูติกาลและจำเริญวัยที่เมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่แผ่นดินไทย ทรงกอบกู้เอกราชคืนจากประเทศพม่า จึงมีเรื่องราวมากมายให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ค้นคว้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชวังจันทน์อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน จึงได้จัดโครงการ “พระราชวังจันทน์ : สถานภาพ องค์ความรู้ รูปลักษณ์สัณฐาน” ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร และพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีการระดมผู้เชี่ยวชาญ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อรวบรวม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อันนำไปสู่การบริหารจัดการและการพัฒนาพระราชวังจันทน์ “ในการดูแลพระราชวังจันทน์ เป็นโครงการที่มีการบูรณาการกันมาก โดยมีเป้าหมายประการแรกในการดูแลพื้นที่คือ มีความจำเป็นจะต้องย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และรื้อถอนอาคารส่วนราชการทั้งหมด ๑๓ ส่วนราชการ และบ้านเรือนราษฎรอีกจำนวน ๑๒๙ หลัง เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖” นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการบูรณะพระราชวังจันทน์ “ตอนนี้เรามีศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของพระราชวังจันทน์เมืองพิษณุโลก งานศิลปกรรมช่างหลวงเมืองพิษณุโลก ตลอดจนพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้บริการในปีพ.ศ.๒๕๕๘” สำหรับการบริหารจัดการพระราชวังจันทน์ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัยได้ให้ทัศนะไว้ว่า พระราชวังจันทน์น่าจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย โดยอาจเป็นมูลนิธิหรือคณะกรรมการจากหลาย ๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน จัดรถรางให้บริการ มีระบบ Internet คือจัดทำ QR Code ติดตามป้ายเป็นภาษาต่าง ๆ รวมถึงภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ควรมีการต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม เช่น จัดยุวมัคคุเทศก์ หรือการบรรยายโดยผู้สูงอายุ การเชื่อมโยงกับวัดใหญ่และโบราณสถานโดยรอบ ตลอดจนการจัดกิจกรรมประจำปีในวันที่ ๒๕ เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันจะสร้างความจดจำได้เป็นอย่างดี ส่วนประเด็นการก่อสร้างพระราชวังจันทน์ขึ้นมาใหม่นั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้สร้างรูปแบบสันนิษฐานซึ่งจัดวางอยู่ ณ พระราชวังจันทน์ ได้กล่าวว่า “แผนผังนี้เป็นรูปแบบสันนิษฐาน หรือข้อมูลกับจินตนาการ ผมเองไม่ได้เชื่อว่าเป็นความจริง แต่มันน่าจะเป็นไปได้ เพราะเราทุกคนเกิดไม่ทัน ด้วยเหตุนี้จึงคัดค้านที่จะมีการสร้างต่อเติม เพราะเมื่อไรที่มีการก่อสร้างต่อเติมขึ้นไปอีกนิดเดียวจะเป็นปัญหา มีคำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในสาส์นสมเด็จ ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวไว้ว่า การบูรณะต้องหยุดทันทีเมื่อถึงจุดเดา เพราะถ้าเกินจุดเดาไปแล้ว เมื่อทำไปจะหยุดไม่ได้ ทำไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ทางโบราณคดีถือว่าไม่ใช่ข้อมูลลวง มันร้ายแรงกว่าข้อมูลลวง เป็นข้อมูลที่ถูกทำปลอมขึ้น เพราะไม่รู้จริง ไม่มีแบบให้เห็น เมื่อมาทำจึงตั้งใจที่จะปลอม แม้ว่าจะไม่เจตนาก็ตาม” อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ได้ให้แนวทางในการบูรณะพระราชวังจันทน์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “หลักการง่ายๆ คือ ซากโบราณสถานจะมีความหมาย จะมีคุณค่า เพราะคนสร้างคุณค่าให้กับมัน ถ้าไม่มีคน ซากโบราณสถานก็ไม่มีความหมาย ฉะนั้นซากโบราณสถานต้องมีคนเข้าไปดูจึงจะมีความหมายมีคุณค่า ดังนั้นนี่คือซากโบราณสถานที่กรมศิลปากรก่อขึ้นมาพ้นดินอย่างสูงที่สุดไม่เกิน ๑ เมตร อย่างต่ำประมาณ ๑ ฟุต ฉะนั้นเป็นซากโบราณสถานที่อยู่ในระดับราบซึ่งมองไปก็หลุดสายตา ต้นไม้โล่งเตียน เพราะถูกตัดหรือเพราะเดิมพื้นที่เป็นสนามของโรงเรียน ทำให้คนไม่เดินไปชมเพราะอากาศร้อน ถ้าอยากให้มีคนเข้าไปชมก็คือหาพันธุ์ไม้ดอกที่จะออกดอกได้ทั้งปีมาปลูก อาจจะต้องมีคนมาออกแบบ หานักพฤกษศาสตร์เพื่อหาพันธุ์ดอกไม้ที่จะบานตามฤดูกาล นอกจากนั้นหาพื้นที่ที่ร่มรื่นเป็นมุมสำหรับเปิดร้านกาแฟ ให้คนเข้าไปนั่งจิบกาแฟชมโบราณสถาน โดยสรุปแล้วคือ การบูรณาการที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงคือ เรื่องการจะให้คนเข้ามาดูโบราณสถาน ปลุกโบราณสถานให้มีสีสันจากพันธุ์ไม้ดอกต่าง ๆ” พระราชวังจันทน์จะเป็นมรดกโลกเหมือนกับกำแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัยได้หรือไม่ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย ได้ให้คำตอบว่า “ขึ้นอยู่กับชาวพิษณุโลก เราต้องสร้างความเชื่อมโยงกับหลาย ๆ วัดที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังจันทน์ เป็นสิ่งที่ร่วมสมัยในยุคนี้ เช่น วัดจุฬามณีเกี่ยวข้องกับพระบรมไตรโลกนารถ รวมไปถึงวัดใหญ่ แต่ต้องมีกระบวนการ โดยในเบื้องต้นควรจะผลักดันไปสู่บัญชีชั่วคราวก่อน ก็มีโอกาสที่จะเดินต่อ เมื่อเป็นมรดกโลกยูเนสโกจะเข้ามาดูแล ใช้กฏของยูเนสโก และได้รับการการันตีจากยูเนสโก” ท้ายที่สุดแล้ว อนาคตของพระราชวังจันทน์จะเป็นอย่างไรจึงเป็นภาระหน้าที่ของคนพิษณุโลก ดังคำกล่าวของผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย “ยังหวังในความร่วมมือของชาวพิษณุโลกทุกคน ในการที่จะช่วยกันบริหารจัดการ พัฒนาพระราชวังจันทน์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว และเป็นอนุสรณ์สถานถึงวีรชน วีรกษัตริย์ของเรา คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น