วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556
งาน “ญ” ผู้หญิงผู้สร้างโลก องค์ความรู้ชุมชนภาคเหนือตอนล่างสู่อาเซียน
เปิดตำนานพระวิสุทธิกษัตริย์ สตรีผู้สูงศักดิ์ในหน้าประวัติศาสตร์
สู่หลากหลายความสามารถของผู้หญิงยุคปัจจุบัน
ในงาน “ญ” ผู้หญิงผู้สร้างโลก องค์ความรู้ชุมชนภาคเหนือตอนล่างสู่อาเซียน
“พระวิสุทธิกษัตริย์” พระราชมารดาแห่งวีรกษัตริย์ไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และวีรสตรี พระสุพรรณกัลยา พระองค์ทรงเป็นพลังสำคัญ เบื้องหลังการปกป้องบ้านเมือง กอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากประเทศพม่า ด้วยความเสียสละในบทบาทของพระอัครมเหสีแห่งเมืองพิษณุโลก และหน้าที่ของความเป็นแม่
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความภาคภูมิใจของชาวสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการปฏิบัติภารกิจด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภายใต้ชื่ออาคารวิสุทธิกษัตริย์ จึงนำไปสู่การจัดงาน “ญ” ผู้หญิงผู้สร้างโลก องค์ความรู้ชุมชนภาคเหนือตอนล่างสู่อาเซียน ในวันที่ ๕ – ๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้หญิงกับประวัติศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาบันกษัตริย์ในมิติของประวัติศาสตร์อยุธยา พาย้อนเปิดพระวิสุทธิกษัตริย์ สตรีผู้สูงศักดิ์ในหน้าประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญแห่งราชสำนักเมืองพิษณุโลก เชื่อมต่อกับช่วงเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์จากยุคของการเสียกรุง สู่การกอบกู้เอกราชในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ผู้หญิงกับผ้าทอ
ศาสตรา พัสตราภรณ์ : อาวุธของผู้หญิงที่ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมือง โดยนางสาวลาโมน่า ชีสแมน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าทอจากร้านสตูดิโอแน่นหนา จังหวัดเชียงใหม่ และนางสาวรวีวรรณ ขนาดนิด ประธานกลุ่มทอผ้า อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และเจ้าของร้านสุนทรีผ้าไทย พร้อมการแสดงแบบผ้าไทย นำเสนอความวิจิตรประณีตของผ้าโบราณ สู่การประยุกต์พัฒนาเป็นเครื่องแต่งกายร่วมสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแบบสากล
ผู้หญิงกับวัฒนธรรมและศิลปะ
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และดร.เปรมฤดี ชามพูนท ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ร่วมเสวนาเรื่องราวของผู้หญิงกับพลังแห่งการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงศิลปะร่วมสมัย ตลอดจนเรื่องราวของผู้หญิง ศิลปะ มุมมองที่แตกต่าง โดยกลุ่มศิลปินภาคเหนือตอนล่าง
ผู้หญิงกับสุขภาพและความงาม
หลากหลายเรื่องราวของสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงาม การวิจัยต่อยอดสมุนไพรในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประยุกต์ใช้ รวมไปถึงผลดี ผลเสียในระยะยาวจากการใช้สมุนไพร โดย
รองศาสตราจารย์ ดร.จารุภา วิโยชน์ และรองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงานวิจัยสมุนไพรพรมมิ ที่มีสรรพคุณบำรุงสมอง และบำบัดอาการอัลไซเมอร์ พร้อมด้วยนางรสสุคนธ์ ศรีอ่อน หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพและบริการ โรงพยาบาลรัตนเวช พิษณุโลก
ผู้หญิงกับอาหาร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุหลัน พิทักษ์พล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษและอดีตผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับเรื่องราวของอาหารไทยภายใต้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องของวิทยาศาสตร์การอาหาร เรื่องของสุขภาพอนามัย เรื่องของอาหารชาติพันธุ์อันเป็นความรู้ในแต่ละท้องถิ่นที่เกี่ยวพันกับทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมการนำเสนอผลงานภายใต้โครงการสืบค้นข้อมูลและพัฒนาฐานข้อมูลวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับปัจจัยสี่ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ด้านอาหาร โดยภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแข่งขันตอบปัญหา การประกวดสุนทรพจน์ การประกวดอาหาร การประกวด วาดภาพ การประกวดแต่งผ้าทอ พร้อมการจำหน่ายอาหารและสินค้าโอท็อป
เติมเต็มองค์ความรู้ ความจรรโลงใจในนิทรรศการพระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลก ผู้หญิงกับศาสตร์สมุนไพรแห่งความงาม อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ในอนุภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง ศิลปกรรม “ญ” ผู้หญิงผู้สร้าง และนิทรรศการพัสตราภรณ์ ซึ่งจัดแสดงจนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖
“เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับคนในเขตภาคเหนือตอนล่าง ให้เข้าใจในรากเหง้าของตนเอง อันจะนำไปสู่การเชื่อมต่อองค์ความรู้ดั้งเดิมของเรากับชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในอาเซียน เพื่อการร้อยรัดเป็นประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ.๒๕๕๘ ต่อไป” นี่คือเป้าหมายแห่งความสำเร็จของดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น