วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ม.คริสเตียน สำรวจความคิดเห็น ปชช. ต่อการทำแท้งของวัยรุ่นไทย





ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำแท้งของวัยรุ่นไทย
โดย ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายวิจัย สุ่มสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการทำแท้งของวัยรุ่นไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม 1,482 คน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงร้อยละ 50.7 และชายร้อยละ 49.3     มีกลุ่มอายุ 18-30 ปีมากที่สุดร้อยละ 39.1 มีสถานภาพสมรสร้อยละ 48.3 นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดร้อยละ 97.0 ระดับการศึกษาปริญญาตรีมากที่สุดร้อยละ 35.0 ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของกิจการ/ค้าขาย/มีธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.1 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 21.1 และร้อยละ 17.3 เป็นนักเรียน/นักศึกษา  




ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.7 เคยได้ยินข่าวการทำแท้งของวัยรุ่นไทย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.7 เห็นว่าสถานการณ์การทำแท้งของวัยรุ่นไทยเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากถึงมากที่สุด และได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการ  ทำแท้งของวัยรุ่นในชุมชนที่อาศัยอยู่มากที่สุดร้อยละ 52.6 รองลงมาร้อยละ 49.3 รับทราบการทำแท้งของวัยรุ่นจากสื่อต่างๆ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.6 เห็นว่ามีการทำแท้งโดยคลีนิกเถื่อน รองลงมาร้อยละ 44.6 เห็นว่ามีการทำแท้งโดยการกินยาขับ




กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.3 เห็นว่าการทำแท้งของวัยรุ่นไทยเกิดจากความไม่พร้อมที่จะมีบุตร รองลงมาร้อยละ 53.6 เห็นว่าเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และร้อยละ 53.3 เกิดจากขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.1 เห็นว่าการทำแท้งของวัยรุ่นเป็นการทำผิดกฎหมายและควรถูกลงโทษ รองลงมาร้อยละ 49.1 เห็นว่ารู้สึกสงสารและเห็นใจวัยรุ่นที่ทำแท้ง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.3 เห็นว่าควรมีวิธีการป้องกันไม่ให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ รองลงมาร้อยละ 53.8 เห็นว่าวิธีการป้องกันการทำแท้งคือ ให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.8 เห็นว่าการทำแท้งเป็นการฆาตกรรม ร้อยละ 53.3 เห็นว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ และร้อยละ 52.9 เห็นว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม




กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.6 เห็นว่าคนในครอบครัวควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำแท้งในวัยรุ่น รองลงมาร้อยละ 53.4 เห็นว่าสถานศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการควรร่วมรับผิดชอบด้วย นอกจากนั้นร้อยละ 52.6 ยังเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขควรเป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำแท้งของวัยรุ่นอีกทางหนึ่งด้วย




ส่วนความคิดเห็นต่อแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำแท้งของวัยรุ่นไทย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.2  เห็นว่าควรป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์  รองลงมาร้อยละ 58.4 เห็นว่าควรให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ร้อยละ 55.8 เห็นว่าควรปราบปรามคลีนิกรับทำแท้งอย่างจริงจัง ร้อยละ 51.9 เห็นว่าควรกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทำแท้งอย่างรุนแรง และร้อยละ 49.9 เห็นว่าควรปลูกฝังให้วัยรุ่นชายมีความรับผิดชอบและให้เกียรติวัยรุ่นหญิง




สภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ ทำให้ค่านิยมของวัยรุ่นไทยเปลี่ยนไป กอปรกับสังคมที่ผู้ปกครองมุ่งประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวจนลืมใส่ใจต่อพฤติกรรมของบุตรหลาน อีกทั้งยังมีความคิดแบบเก่าที่มองว่าการพูดคุยเรื่องเพศศึกษากับบุตรหลานเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้บุตรหลานเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นครอบครัวและสถานศึกษาควรร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ย่อมดีกว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุ ซึ่งอาจจะสายเกินแก้ดังคำที่ว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” อีกทั้งสังคมไทยควรตระหนักถึงความรุนแรงและผลกระทบของการทำแท้งในวัยรุ่นและมุ่งช่วยกันหาวิธีลดปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่น อันจะส่งผลให้เยาวชนไทยมีสุขภาพอนามัยด้านการเจริญพันธุ์ที่ดี


----------------------------------

ชนาธิป  พึ่งดอกไม้  ฝ่ายประชาสัมพันธ์   มหาวิทยาลัยคริสเตียน
เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณบุรีนิวส์  rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น