กับการสืบสานเอกลักษณ์เมืองสองแคว
...ผ้าดอกปีบคืออะไร?...หน้าตาเป็นอย่างไร?...หาซื้อได้ที่ไหน?...
สารพัดคำถามภายหลังการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชาวพิษณุโลกแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยพื้นเมืองในวันพฤหัสบดี
และผ้าไทยประจำถิ่นคือผ้าทอลายดอกปีบในวันศุกร์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ ในโครงการ “รณรงค์ อนุรักษ์
การแต่งกายผ้าไทยผ้าถิ่นจังหวัดพิษณุโลก ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๙จัดโดยสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก
สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก สภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
วันนี้จึงขอนำเรื่องราวของดอกปีบมาเล่าสู่กันฟัง
จุดเริ่มต้นจากกล้าไม้ปีบพระราชทาน
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๗ ณ
ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้รับพระราชทาน “กล้าไม้ปีบ”
จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในวันรณรงค์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ ๕๐ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะได้รับกล้าไม้แต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป
จากนั้น
ไม้ปีบจึงถือเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิษณุโลกและชาวพิษณุโลกก็ได้เห็นต้นปีบ
รู้จักดอกปีบจากการรณรงค์ให้มีการปลูกต้นปีบทั่วเมือง
ดอกปีบบนผืนผ้า
จากการสัมภาษณ์คุณวรรณา ไกรสิทธิพงศ์
รองประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เล่าว่า “หน่วยงานราชการต่าง
ๆ ต้องการให้มีผ้าทอประจำจังหวัด ดังนั้นในการประกวดผ้าทอ
ซึ่งทางจังหวัดจัดขึ้นอยู่เป็นประจำ จึงมีการรณรงค์ให้ทอผ้าลวดลายประจำจังหวัดส่งเข้าประกวด
ผลปรากฏว่า ผ้ามัดหมี่ลายดอกปีบมีความงดงามอ่อนช้อย จึงได้รับรางวัลชนะเลิศ”
และในตอนนั้น ป้าเทา นันทแพทย์
ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอม อำเภอวังทอง
จังหวัดพิษณุโลก เจ้าของผ้ามัดหมี่ลายดอกปีบ เป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผ้าพื้นเมืองพิษณุโลก
ประเภทผ้ามัดหมี่ ในงานวันสตรีสากล วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๓โดยป้าเทาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“ใช้เวลาทอหลายเดือน โดยมีอาจารย์จากโรงเรียนม่วงหอมเป็นผู้ออกแบบลายให้ หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศก็ได้รับคำสั่งจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
พุทธชินราชให้ทอผ้าลายดอกปีบสีม่วง จำนวน ๕๐๐ เมตร และก็มีผู้สั่งทอเรื่อยมา”
จากนั้นกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอมได้มีการพัฒนารูปแบบของดอกปีบอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งเป็นลวดลายดอกปีบขนาดเล็กพร้อมก้านใบที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น พร้อมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น
ๆ เช่น หมอน กระเป๋า
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผ้าทอลายดอกปีบ
ผ้าทอประจำจังหวัดพิษณุโลก โดยส่วนใหญ่จะเป็นดอกสีขาว พื้นสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดพิษณุโลก
นอกจากนี้ก็อาจจะมีสีอื่น ๆ ตามสีประจำของแต่ละหน่วยงาน
กลุ่มทอผ้าแต่ละกลุ่มต่างก็คิดสร้างสรรค์พัฒนาลวดลายดอกปีบ เช่น มี ๒ ชั้น ๓ ชั้น
บางผืนก็มีถึง ๕ ชั้น หลากหลายสีสัน ตามความต้องการของตลาดซึ่งมีความนิยมเป็นระยะ
ๆ ไม่แน่นอน เป็นไปตามนโยบายการอนุรักษ์ รณรงค์ของจังหวัด
ทอผ้าลายดอกปีบถวายสมเด็จพระราชินี
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ มหาวิทยาลัยนเรศวรมีดำริที่จะทอผ้าขึ้นเป็นพิเศษ
เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษาในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗
ขณะนั้นพิพิธภัณฑ์ผ้า ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในเส้นทางการเรียนรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร
ในการกำกับดูแลของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินได้ดำเนินการสั่งทอผ้าฝ้ายมัดหมี่สอดดิ้นลายดอกปีบ
โดยเลือกใช้สีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำวันเฉลิมพระชนมพรรษา มีความยาว ๗๓ เมตร
สอดแทรกคำว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรทุกระยะ ๕ เมตร โดยเป็นฝีมือของป้าเทา นันทะแพทย์ ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอม
ผ้าทอดอกปีบต้นแบบและดอกปีบกาสะลองในงานวิจัย
เส้นทางของผ้าทอลายดอกปีบยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อปี ๒๕๕๗ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
ได้รับมอบหมายจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกให้ทอผ้าต้นแบบลายดอกปีบ
โดยนางสาวอนงค์ วงศ์สุวรรณ์ ช่างทอผ้าของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินเริ่มกระบวนการกวักเส้นด้าย
เดินเส้นยืน กรอเส้นพุ่ง สืบหูก จนทอเป็นผืนผ้า
ปัจจุบันสถานอารยธรรมศึกษา
โขง-สาละวินได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง การออกแบบลวดลายผ้าทอเอกลักษณ์จังหวัดพิษณุโลกเพื่อออกแบบลวดลายใหม่
จำนวน ๖ ลายทั้งนี้ ๑ ใน ๖ ลาย คือ ลายดอกปีบกาสะลอง โดยนายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์
นักวิชาการช่างศิลป์เป็นผู้ออกแบบด้วยการทอ ๒ เทคนิคคือดอกปีบกาสะลองแบบมัดหมี่
โดยกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลกและดอกปีบกาสะลองแบบขิด
โดยนางสาวอนงค์ วงศ์สุวรรณ์ขั้นตอนการวิจัยอยู่ระหว่างการสำรวจความพึงพอใจซึ่งเมื่อได้ลวดลายตามความนิยมแล้วจะนำเสนอกลุ่มทอผ้า
หน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนผู้สนใจเพื่อนำไปประยุกต์ พัฒนา ต่อยอดต่อไป
วันนี้ดอกปีบจึงยังคงคุณค่าในฐานะพันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน
และลวดลายอันงดงามบนผืนผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดพิษณุโลก
พรปวีณ์
ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
เรวัติ น้อยวิจิตร hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ข้อมูลกล้าไม้ปีบพระราชทานจากหนังสือต้นไม้และดอกไม้มงคล
กลุ่มส่งเสริมการศาสนาและวัฒนธรรม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น