วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นายกรัฐมนตรี เปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล


          นายกรัฐมนตรีเปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล เน้นย้ำให้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาขับเคลื่อน



             วันนี้ (13 มิถุนายน 2559) เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าราชการ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบล ระดับกระทรวง ระดับสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ( กศน.) ระดับจังหวัด อำเภอ เขต และตำบล ผู้แทนภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วม จัดโดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้บุคลากรในสังกัดสำนักงาน กศน. ทุกระดับ นักศึกษา กศน. และประชาชนได้ตระหนักรู้ เกิดความภาคภูมิใจในสถาบันหลักของชาติ และเป็นการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนอย่างแพร่หลาย จำนวน 7,424 แห่ง ทั่วประเทศ


                ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล พร้อมกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า ต้องการให้ทุกคนกลับมาดูเศรษฐกิจภายในประเทศ ว่าจะต้องขับเคลื่อนไปทิศทางไหน เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า พร้อมกับต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน และสภาพภูมิอากาศ โดยให้น้อมนำเอาแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง ตามพื้นฐานของประเทศคือการทำเกษตรกรรม


                นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเยาวชนในต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่ที่มีความเจริญ ทำให้ขาดแคลนแรงงานในการทำอาชีพเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการทำเกษตรสูงขึ้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ ของภาครัฐ ต้องให้ความรู้กับเกษตรกรด้วยการแนะนำ สร้างความเข้าใจ และสร้างการยอมรับให้กับประชาชนในพื้นที่ ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ ปริมาณน้ำ และความต้องการของตลาด เน้นสินค้าเพื่อสุขภาพ ปลอดสารพิษ โดยใช้ศูนย์ต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์เกษตรกร เน้นให้นำปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาเป็นแนวทางในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับให้บูรณาการทำงานของศูนย์ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนยกระดับอาชีพความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในส่วนของเกษตรกรต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่น เพื่อใช้เป็นข้อมูลด้านการตลาด และข้อมูลด้านการเกษตรกร รวมถึงข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐให้เป็นประโยชน์


                 ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศในหลาย ๆ ด้าน และจะทำ ทุกอย่างโดยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง พร้อมกับเน้นย้ำให้ข้าราชการต้องทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน พร้อมกับเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการ โดยให้มองปัญหาจากข้างนอก มาข้างในประเทศ และมองกลับไปสู่เศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้ริเริ่ม และอำนวยความสะดวกให้กับเอกชนในการลงทุน เพราะฉะนั้นต้องมีการแบ่งกลุ่มตลาดภายในประเทศตามกลุ่มจังหวัด และตามความแตกต่างของศักยภาพในแต่ละพื้นที่ เน้นส่งเสริมสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือสินค้า GI เพื่อบ่งบอกที่มาที่ไปของสินค้า สามารถตรวจสอบได้ และสร้างจุดขายต่อไปในอนาคต พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กับกำชับให้ส่วนราชการประเมินผล และตั้งเป้าหมายคาดหวังผลสำเร็จต่อการดำเนินการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนคำงบประมาณ โดยรัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ



                นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาทุกอย่างต้องเริ่มจากฐานราก ซึ่งส่วนใหญ่มีความยากจน พร้อมกับให้นำประสบการณ์ที่ผ่านมา นำมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา อย่าให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซ้อน และให้ช่วยกัน ทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ พร้อมกับฝากให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการสอนภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาษาที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน เพื่อยกระดับเป็นหัวหน้างาน พร้อมกับแนะนำให้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมให้ความรู้โดยการทำป้ายสอนภาษาต่าง ๆ ในสถานประกอบการ พร้อมกับฝากให้ช่วยกันขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลสำเร็จโดยเร็ว โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้ประสานงาน เชื่อมโยงระหว่างศูนย์ต่าง ๆ ของภาครัฐอย่างบูรณาการ และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนต่อไป

ขอบคุณข้อมูล  กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนกประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

อำนวย  เดชทองคำ  ผู้สื่อข่าวพิเศษ   รายงาน
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น