การปลูกข้าวอินทรีย์ หรือ การทำนาข้าวปลอดสารพิษ เป็นการปลูกข้าวแนวใหม่โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ รักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ แข็งแรง ปราศจากหรือมีโรคน้อยที่สุด ในอดีตประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบรูณ์ของทั้งดินและน้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำหลักของประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”การเพาะปลูกก็เป็นในรูปแบบการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน มีการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น เริ่มมีการแลกเปลี่ยนซื้อขาย การตลาดเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น การเพาะปลูกเปลี่ยนเป็นแบบเพื่อการพาณิชย์และการส่งออก เริ่มมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ รวมไปถึงการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิต จริงอยู่การใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อทำการปลูกพืชชนิดเดียวและใช้สารเคมีในพื้นที่หนึ่งไปนานๆ จะเริ่มเกิดปัญหามีสารเคมีตกค้างในดิน ดินในพื้นที่นั้นๆจะเริ่มเกิดภาวะเสื่อมโทรมลง ความอุดมสมบรูณ์และแร่ธาตุในดินลดลง จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำลง
นายวรภพ ฉิมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่าปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้ในปัจจุบันนี้ เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีราคาของสินค้าเหล่ามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตของข้าวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมากในการเกษตรนอกจากมีแนวโน้มเสี่ยงต่อราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว การใช้สารเคมีที่ไม่ถูกวิธีและไม่มีประสิทธิภาพยังอาจทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารพิษที่ตกค้างได้ หรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเอง การใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมากๆในระหว่างการผลิต ก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ชาวนาได้ถ้าได้รับสารเคมีที่เป็นพิษเป็นเวลานานๆ
และปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลไร่รถ นิยมใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก โดยหวังว่าจะเป็นตัวช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจไม่ทราบว่าสารเคมีเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม และผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดวิกฤตฝนแล้ง น้ำในเขื่อนต่างๆลดน้อยลงและไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของภาคการเกษตร เกิดปัญหาต้นข้าวแห้งตายและไม้ผลต่างๆยืนต้นตายในหลายๆพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลไร่รถ จึงได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวด้วยเกษตรอินทรีย์ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยปลูกแบบเปียกสลับแห้งหรือการแกล้งข้าว (นาดำ) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ทำนาประหยัดน้ำในยามที่น้ำขาดแคลนเช่นในภาวะปัจจุบัน พันธุ์ข้าวที่ใช้ในแปลงนาสาธิตคือ พันธุ์ข้าว กข.61 เป็นข้าวอายุ 90วัน ลักษณะเด่นคือ ผลผลิตสูง อายุสั้น คุณภาพเมล็ดดี ค่อนข้างต้านทาน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว และโรคไหม้ และได้การรับรองพันธุ์ จากคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาข้าว รับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558ก่อนดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวด้วยเกษตรอินทรีย์ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์การบริหารส่วนตำบลไร่รถ ได้ปรับปรุงบำรุงดินโดยการปลูกปอเทืองเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน เพื่อเป็นการส่งเสริมและรณรงค์ลดการเผาตอซังและปรับปรุงคุณภาพดินด้วยปุ๋ยพืชสด เพื่อลดความเสื่อมโทรมของดินและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
สำหรับการทำนาแบบ เปียกสลับแห้งหรือเรียกว่าการแกล้งข้าวนั้น คือการปล่อยให้ข้าวขาดน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวแข็งแรง ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิต การแกล้งข้าวมี 2 ช่วงคือ ในช่วงเจริญเติบโตทางลำต้นหรืออายุข้าว 35-45 วัน ให้ข้าวขาดน้ำเป็นเวลา 14 วัน หรือดินในแปลงนาแตกระแหงแล้วจึงปล่อยน้ำเข้านา
และในช่วงข้าวแตกกอสูงสุดหรืออายุข้าว 60-65วัน ให้ข้าวขาดน้ำเป็นเวลา14 วัน หรือดินในแปลงนาแตกระแหงแล้วจึงปล่อยน้ำเข้า การแกล้งข้าว จึงนับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกของเกษตรกรในยุคที่ประเทศไทยกำลังประสบกับการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร นอกจากจะประหยัดน้ำแล้วยังประหยัดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตด้วย ข้อดีคือ ต้นข้าวไม่อวบน้ำ ความชื้นที่โคนกอข้าวต่ำ อุณหภูมิหน้าดินจะสูงๆต่ำๆเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่ชอบ การทำนาแบบเปียกสลับแห้งหรือการแกล้งข้าวนี้ไม่เหมาะกับดินทรายและดินเค็ม ช่วงข้าวตั้งท้องอย่าปล่อยให้น้ำแห้งเด็ดขาด นอกจากจะลดต้นทุน ยังทำให้ผลผลิตดีอีกด้วย
เกรียงไกร ก่อเกียรติตระกูล บรรณาธิการ อู่ทองนิวส์ ข่าว
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น