สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเขตควบคุมโรค “โรคพิษสุนัขบ้า” ชั่วคราว 30 วัน ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ อำนาจเจริญ ยโสธร สมุทรสงคราม นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
ความคืบหน้าของสถานการณ์ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งระบาดในสัตว์เลี้ยงของแต่ละจังหวัดในประเทศไทย ล่าสุดข้อมูลสัตว์ติดเชื้อพบว่า สุนัข เป็นอันดับ 1 มีมากถึง 89.38% ขณะที่ วัว มีการติดเชื้อเป็นอันดับ 2 คือ 6.48% และอันดับ 3 แมว พบการติดเชื้อ 3.42%
ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งการพบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวแล้ว 3 ราย ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ สงขลา ตรัง สถานการณ์โรคเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ปี 2561 พบหัวสุนัขที่มีเชื้อบวก หรือเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า
โดยปี 2560 เฉพาะเดือนมกราคมพบหัวสุนัขเชื้อบวก จำนวน 81 ตัว ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 พบหัวสุนัขเชื้อบวก 79 ตัว โดยในปีนี้ในเดือนมกราคม พบหัวสุนัขเชื้อบวก 155 ตัว และเดือนกุมภาพันธ์พบหัวสุนัขมีเชื้อบวก จำนวน 160 ตัวสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค ชี้ข้อมูล 2 เดือนที่ผ่านมามีสัตว์ ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าปีที่แล้ว 1.5 เท่า แนะประชาชนหากถูกกัด ข่วน เลีย ให้รีบ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัด” พร้อมทั้งเร่งค้นหาติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครบ 100%
นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการตรวจพบสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2561 เพียง 2 เดือนพบผู้เสียชีวิตจาก โรคนี้แล้ว 2 ราย ขณะนี้มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า โดยพบว่าร้อยละ 90 ของสัตว์ที่ติดเชื้อคือสุนัข รองลงมาพบการติดเชื้อในแมวและโค ซึ่งมีรายงานการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโคเพิ่มขึ้นด้วย
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2561 จังหวัดที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธ์ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ทำให้ยังมีสัตว์ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 1.ประชาชนไม่นำสุนัข แมวไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 2. ประชาชนปล่อยสัตว์เลี้ยงนอกบ้าน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกัดจากสัตว์ที่มีเชื้อ 3. ประชาชนขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น เมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัด ข่วน เลีย ก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
นายแพทย์สุเมธ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัขหรือแมวในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้านอย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแลเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัข แมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ซับให้แห้งแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ กักสัตว์ไว้ 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง
นายแพทย์สุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยแนะประชาชนปฏิบัติตาม คาถา 5 ย. ได้แก่ ย.1 อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห ย.2 อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขตกใจ ย.3 อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า ย.4 อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะสุนัขกำลังกินอาหาร ย.5 อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบสัตว์แปลกหน้าที่มีอาการดุร้ายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร่งด่วน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 นายแพทย์สุเมธ กล่าวปิดท้าย
เกรียงไกร ก่อเกียรติตระกูล บรรณาธิการข่าว
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น