วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2561

วช. นำสื่อชมต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

 


                สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  นำสื่อมวลชนลงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวชุมชต้นแบบใช้นวัตกรรมต่อยอดต้นทุนเดิม สู่ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์  ภายใต้ โครงการ Innovation Hubs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0  




                ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการ Innovation Hubs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นความร่วมมือภายใต้ บันทึกข้อตกลงระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา 9 ภูมิภาค เพื่อร่วมมือกันเผยแพร่ผลงาน ในโครงการ Innovation Hubs  ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการฯ ดังกล่าว เผยแพร่ขยายผล  วช.จึงนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 1 กันยายน ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ตัวอย่างของการพัฒนา โดยใช้แนวคิดและนวัตกรรมเรื่องบริการ ต่อยอดจากต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชุมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
   




              ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ  ประธานคณะกรรมการ Innovation Hup กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า  โครงการนี้มุ่งเน้นนำสิ่งที่เป็นต้นทุนของชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา หรือทรัพยากรธรรมชาติ บูรณาการกับความรู้จากงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นนั้น ๆ มาพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรม ซึ่งอาจเป็นสินค้าหรือบริการที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนโครงการ ด้วยงบประมาณในปี 2560  และใช้วิธีขับเคลื่อนผ่านทางเครือข่ายวิจัยของ สกอ. 9 แห่งทั่วประเทศ ทำงานในพื้นที่ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน/ล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน/ล่าง ภาคกลางตอนบน/ล่าง ภาคใต้ตอนบน/ล่าง และบูรพา
 





             สำหรับภาคใต้ตอนบน มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นแม่ข่าย ในการนำองค์ความรู้พัฒนาชุมชนลานสกา โดยใช้แนวคิดนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างบริการจากต้นทุนที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น นอกจากนี้ที่ลานสกายังมีต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งซ่อนอยู่ในมิติที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เช่น วัดต่าง ๆ พัฒนาให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนักวิจัยมีบทบาทนำกลไก ระบบแนวคิดการจัดการ ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
     





            ด้าน ดร.รุ่งรวี จิตภักดี รองคณบดีสำนักวิชาการจัดการ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ กล่าวว่า โครงการ “พัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนอำเภอลานสกาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพทางไทยแลนด์ 4.0” เป็นหนึ่งในโครงการ Innovation Hubs ซึ่งทำวิจัยแบบมีส่วนร่วม ทั้งการค้นหาอัตลักษณ์และแบรนด์ทางการตลาด การยกระดับที่พักและร้านอาหาร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การออกแบบสินค้าที่สื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นลานสกา การออกแบบท่องเที่ยวลานสกา ซึ่งพื้นที่ทำวิจัย ได้แก่หมู่บ้านคีรีวงบางแห่ง ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา ผลการวิจัย พบว่า จุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวลานสกา คือมังคุดที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ซึ่งมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับหลวงพ่อมังคุด ดังนั้น ‘มังคุด’ จึงเป็นจุดขายของ อำเภอลานสกา และนำมาซึ่งผลงาน ที่สื่อถึงการท่องเที่ยวของอำเภอลานสกา โดยใช้มังคุดเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ในแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการออกแบบเป็นหมวกหมอนมังคุด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของลานสกา
 





              นอกจากนี้ ยังมีการใช้คิวอาร์โค้ด แทนเอกสารท่องเที่ยว มีการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวถ่ายทอดเป็นหนังสั้น ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบดั้งเดิม และเชิงเกษตรแนวใหม่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ ร้านเครื่องดื่มที่คงความเป็นท้องถิ่นเดิม เช่น ลานสกาค๊อฟฟี่ เป็นต้น
   





            ทั้งนี้ สื่อมวชนได้เยี่ยมชม แหล่งท่องเที่ยวชุมชนลานสกา ซึ่งเข้าสู่รูปแบบแหล่งท่องเที่ยวที่ดี ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมหลายแห่ง เช่น บุฟเฟ่ต์ผลไม้เมืองคอน พระมังคุดแห่งตำนานการสร้างวัดเจดีย์ บ้านสวนคุณปันโฮมสเตย์ น้ำตกวังไทร สวนมังคุดโบราณ ตลาดสวนสร้างบุญ เป็นต้น






จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์  ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น