วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วช.นำสื่อดูใยกล้วยมีค่าด้วยงานวิจัย

 

          สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.พร้อมสื่อมวลชนดูงานวิจัยหัตถกรรมจากเส้นใยกล้วย จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายนนี้
 




           ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 วช. ได้สนับสนุนโครงการ “Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม” โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์ ในจังหวัดภาคเหนือ แก่ รองศาสตราจารย์อเนก  ชิตเกษร และรองศาสตราจารย์พรรณนุช  ชัยปินชนะ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยพายัพ เพื่อถ่ายทอดกระบวนการผลิตผ้าทอจากเส้นใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติด้วยกี่กระทบและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า รวมถึงกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยคณะนักวิจัยได้ศึกษาวิจัย กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยและได้ปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสม ตามบริบทของพื้นที่ในจังหวัดลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และกำแพงเพชร เช่น การใช้เส้นฝ้ายเป็นเส้นยืน และใช้เส้นใยกล้วยเป็นเส้นพุ่ง ซึ่งสามารถใช้ต้นกล้วยได้ทุกชนิด แต่ต้นกล้วยน้ำว้าจะมีความเหนียวมากที่สุด สำหรับการย้อมสีจะใช้วัสดุย้อมสีจากธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ใบตะเคียนหนู (ใบเหว) คำแสด (คำเงาะ) เปลือกประดู่ กระเจี๊ยบแดง ต้นขนุน และใบมะม่วง และสร้างลวดลายในการทอจากการสอดเส้นใยกล้วยและการสร้างลวดลายที่แตกต่างจากการทอผ้า เพื่อสร้างลวดลายใหม่ๆ ได้ตามความต้องการ





              รองศาสตราจารย์อเนก  ชิตเกษร หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ผลจากการวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ และชุมชนสามารถนำวัสดุหรือวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และใช้สีย้อมจากธรรมชาติ โดยพัฒนาการยกระดับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรี หลากหลายขนาด พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ จากการทอผ้าใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติ การคำนวณต้นทุน กลยุทธ์ทางการตลาด และสามารถนำเสนอสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มชุมชน เช่น กลุ่มแพวทอผ้าฝ้าย อำเภอปัว กลุ่มทอผ้าบ้านหล่าย อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เป็นต้น อีกทั้งมีการจัดทำคู่มือ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และเผยแพร่วิดีโอ ขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติผ่านเวปไซด์ http://bananatextile.com/index.php ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจดีขึ้น จนได้รับคัดเลือกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ส่งเสริมรายได้และเศรษฐกิจในชุมชน เป็นการสร้างรายได้และโอกาสทางการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชน
 




             ทั้งนี้ วช.หวังให้สื่อมวลชนที่ลงพื้นที่ ดูงานวิจัยหัตถกรรมจากเส้นใยกล้วย จังหวัดน่านครั้งนี้ เผยแพร่ผลงานการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยให้แพร่หลาย ตามโครงการสื่อมวลชนสัญจร ครั้งที่ 1/2562





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น