วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วช.ชูรูปแบบวิจัยเพิ่มมูลค่าทอผ้าใยกล้วย

     

             สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ชูรูปแบบงานวิจัยเพิ่มมูลค่าทอผ้า จากเส้นใยกล้วย ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. หวังให้นักวิจัยขยายผลให้ชุมชนสังคมเข้มแข็งยั่งยืน
 




           นางสาวสุกัญญา  ธีระกูรณ์เลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวถึงการนำสื่อมวลชน ดูงานวิจัยหัตถกรรมจากเส้นใยกล้วย ที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า วช.ได้จัดทำโครงการ Research for community หรือวิจัยเพื่อชุมชนสังคมขึ้น เพื่อส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากการวิจัยที่มีความพร้อมให้ขยายผลส่งต่อแก่ผู้ใช้ประโยชน์ โดยสนับสนุนนักวิจัยที่มีผลงานแล้วเสร็จ สามารถตอบสนองสังคมชุมชนได้ ในลักษณะนำงานวิจัยไปเพิ่มผลผลิต หรือเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ดังเช่น ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยจังหวัดน่าน ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากงานวิจัย โดยนักวิจัยต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ กลยุทธ์ต่าง ๆ สู่ชุมชนสังคม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน รวมทั้งต้องกำหนดแผนงาน เพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยขายได้
   



           นางสาวสุกัญญาฯ กล่วยด้วยว่า งานวิจัยหัตถกรรมจากเส้นใยกล้วย จังหวัดน่าน ถือเป็นรูปแบบธุรกิจวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก เนื่องจากการผลิต ต้องใช้เวลาและความชำนาญ จึงมีปริมาณไม่มาก หากนักวิจัยสามารถขยายผลได้หลายชุมชนก็อาจนำไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งขณะนี้ นักวิจัยได้ถ่ายทอดงานวิจัยในชุมชนหลายพื้นที่แล้ว ทั้งจังหวัดลำพูน พะเยา แพร่  และกำแพงเพชร พร้อมจัดทำคู่มือ และสร้างแบรนด์เพื่อการตลาดในชื่อ  BanaCott
   




          ทั้งนี้ การให้ชุมชนมีโอกาสพัฒนา ผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยงานวิจัย โดยสร้างแบรนด์และใช้วัสดุธรรมชาติ เชื่อว่า ชุมชนคงพอใจ เนื่องจากไม่ได้ปรับเปลี่ยน วิถีการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของชุมชน แต่เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ มาเพิ่มมูลค่าด้วยงานวิจัย อย่างไรก็ตาม นักวิจัยต้องหาตลาดเพิ่มขึ้น พร้อมออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาด
   



           รองศาสตราจารย์อเนก ชิตเกษร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า เริ่มจากกาบกล้วยสู่การพัฒนาเป็นเส้นใยย้อมสีธรรมชาติ 8 สี นำมาทอเป็นเส้นพุ่ง โดยมีฝ้ายเป็นเส้นยืน และออกแบบทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ จนสามารถขายได้ โดยชุมชน สามารถเลือกที่จะทำเองขายเอง หรือทำเองให้นักวิจัยขายให้ก็ได้  ซึ่งนักวิจัยพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นๆ โดยได้จัดทำคู่มือ และเผยแพร่ขั้นตอนการย้อมสีผ่านเวปไซด์ด้วย




             ด้านรองศาสตราจารย์พรรณนุช ชัยปินชนะ นักวิจัยร่วมเชี่ยวชาญการบริหารและการตลาด กล่าวว่า การนำภูมิปัญญาชาวบ้านเชื่อมโยงกับงานวิจัย จนได้องค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รูปแบบต่าง ๆ พบว่า กาบกล้วยน้ำว้าดีที่สุด ในการทำเส้นใย ขณะที่กลุ่มทอผ้าก็เปิดใจยอมรับผลิตภัณฑ์ที่มีงานวิจัยเข้ามาผสมผสานกับการทอผ้า เนื่องจากทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น เช่น กระเป๋าผลิตจากผ้าฝ้ายราคาใบละ 1,000 บาท แต่กระเป๋าที่ผลิตจากผ้าทอกับเส้นใยกล้วย จะเพิ่มมูลค่าเป็นใบละ 3,000 บาท เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันผลิตได้ไม่พอกับความต้องการของตลาด








จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์   ผู้สื่อข่าวอาวุโส
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น