วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เดชา ศิริภัทร คนไทยตัวอย่าง .. จิตวิญญาณในเมล็ดข้าว



ประวัติคนไทยตัวอย่าง…เจ้าของรางวัลเกียรติยศ จาก “ งานคนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ 3″ 

“อ.เดชา ศิริภัทร”…จิตวิญญาณในเมล็ดข้าว
ท่านประกาศว่า “จะอุทิศตนเองและการทำงานขององค์กรเพื่อทำงานใช้หนี้บุญคุณของชาวนาตราบจนบั้นปลายของชีวิต” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน

อ.เดชา ศิริภัทร หรือ “ลุงเด”  ของนักเรียนแห่งโรงเรียนชาวนา …เกิดในครอบครัวที่มีฐานะระดับเศรษฐี คุณปู่ของท่านมีที่นาสองหมื่นไร่ เป็นเจ้าของโรงสีที่ใหญ่ที่สุดใน จ.สุพรรณบุรี
ตามประสาลูกผู้มีอันจะกิน ท่านจึงเติบโตมาอย่างสุขสบาย เข้าเรียนสัตวบาล ม.ขอนแก่น ด้วยความฝันเหมือนคนหนุ่มจำนวนมากที่อยากเป็นคาวบอย …เมื่อเรียนจบออกมา จึงไปรับราชการอยู่ 4 ปี และลงมือทำฟาร์ม 200 ไร่
เวลาผ่านไป ทำให้ได้รู้ได้เห็นว่า ชีวิตเกษตรกรประเทศนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างร้ายกาจและรุนแรงอย่างไร ทำให้ท่านเริ่มครุ่นคิดมากขึ้น

• จุดเปลี่ยน •
จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคือตอนที่ท่านเสียแม่ แม่เคยบอกว่าอยากให้บวช ในวัยราว 30 ปี อ.เดชาจึงทำตามความต้องการของแม่ซึ่งละลาจากโลกไปแล้ว
ด้วยความเป็นคนอ่านมาก รู้ว่าวัดไหนเป็นอย่างไร ใครคือพระจริงพระปลอม ท่านได้ตัดสินใจเลือกบวชที่สวนโมกขพลาราม (รุ่นราวคราวเดียวกับ พระพยอม กัลยาโณ)
3-4 เดือน ในสวนโมกข์ ภายใต้การปกครองและพร่ำสอนของหลวงพ่อพุทธทาส ท่านรู้สึกคล้ายตัวเองดวงตาสว่าง มองเห็นทางเดินสู่ความพอดีของชีวิต
เมื่อสึกออกมา จึงตัดสินใจประกาศขอแยกตัวออกจากธุรกิจครอบครัว ไม่รับมรดกใดๆ ทั้งสิ้น มุ่งทำงานด้านการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ท่านสนใจอย่างต่อเนื่องมาร่วม 20 ปี

♦ เหตุผลที่ อ.เดชา เลือกจะเป็นเกษตรกร ♦
“เกษตรกรไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องสนเลยว่า เศรษฐกิจจะเป็นยังไง จะรบกันที่ไหน เงินเฟ้อ เงินฟุบ เพราะคุณพึ่งตัวเองได้ มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ทำได้หมด
ประการต่อมา อาหารเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ ยังไงก็มีคนกิน ไม่มีทางล้นตลาด ยิ่งในอนาคต อาหารที่ดีมีคุณภาพและปลอดสารพิษ คนรวยยิ่งแย่งกัน ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวเลย เกษตรกรที่ทำเพื่ออยู่เพื่อกิน เรากินของดี ถ้าเหลือก็เอาของดีแบ่งขาย..”
และที่น่าประทับใจมากๆ คือคำพูดของ อ.เดชา เรื่อง…รายเหลือ…
“รายจ่ายนี่คือตัวหลัก รายได้เป็นตัวรอง รายได้เท่าไร ไม่จำเป็นเลย คุณดูรายจ่ายก็พอ ชาวบ้านที่ฉลาดๆ เขาบอกว่ารายรับเท่าไหร่ไม่สำคัญ อยู่ที่รายเหลือ คุณเงินเดือนหมื่น แต่ใช้หมื่นห้า กับคนเงินเดือนห้าพัน แต่ใช้สามพัน ถามว่าใครดีกว่า คนได้ห้าพันดีกว่าแน่นอน เพราะมีเหลือสองพัน..
“เกษตรกรเป็นอาชีพที่อิสระที่สุด ไม่มีอาชีพอะไรที่จะสบายเท่านี้อีกแล้ว ผมไปเยี่ยมฟูกูโอกะที่ญี่ปุ่น แกทำเกษตรธรรมชาติ ไถยังไม่ไถเลย นอนรออย่างเดียว สบาย กินพอแล้ว เหลือมากๆ ก็ขายนิดหน่อย ว่าง นั่งเขียนหนังสือ..”
ในวัย 64 ปี ทุกวันนี้ อ.เดชา ศิริภัทร เป็นผู้อำนวยการ มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี
กว่า ๒๐ ปีที่ อ.เดชาสละความร่ำรวยและความสุขสบายส่วนตัว เพื่อดำเนินชีวิตตามปณิธานในการทำสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าดีทั้งต่อตนเองและสังคมส่วนใหญ่ นั่นคือการทำเกษตรอินทรีย์และใช้วิถีชีวิตพอเพียง ด้วยหลักการสอนที่เรียกว่า “ทำเพื่อสอน” คือลงมือทำให้ดู อยู่ให้เห็น เพื่อพิสูจน์ให้เกษตรกรคนอื่นเห็นว่า การใช้ชีวิตพอเพียงและการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีนั้นเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ท่านไม่มีรถ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ
แต่ยังคงคลุกคลีทำงานกับเกษตรกรจนเริ่มเปลี่ยนแนวคิดให้ชาวนาเลิกใช้ปุ๋ย ใช้ยา หันเข้าหาเกษตรกรรมธรรมชาติซึ่งเป็นวิถีที่เรียบง่ายและยั่งยืนกว่า

“มูลนิธิข้าวขวัญ” ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว และระบบการปลูกข้าวที่ถูกที่วิธี ให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ และปลอดสารเคมี ชาวนาที่ทำตามวิธีของมูลนิธิข้าวขวัญได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา 2 คน คือ ชัยพร พรหมพันธุ์ ปี 2538 และทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปี 2549

“ผมเริ่มทำตอนปี 2527 ตอนแรกก็มืดมาก ไม่แน่ใจว่าจะได้จริงไหม ก็พัฒนามาเรื่อยในแนวทางของเราคือการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี เทคนิคที่เราคิดว่าเป็นปัญหา ไม่ปัญหาเลย ปรับดิน คุมโรคและแมลงได้หมด คนไทยพัฒนาได้ เลิกใช้เคมี แต่ผลผลิตไม่ลดเลย ได้เท่าเดิม หรือเพิ่มด้วยซ้ำ ใครจะทำก็ได้ ง่าย ต้นทุนต่ำ โรคแมลงไม่มี
นาข้าวที่ใช้เคมี พัฒนาไปเต็มที่แล้ว ได้ผลผลิตประมาณ 270 ถัง/ไร่ แต่ทำปลอดสารเคมี ตอนนี้ไร่หนึ่งได้ 350 ถัง เป็นงานทดลองนะ ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่รู้และไม่เชื่อ ปัญหาคือทำยังไงจะมีหัวหอกนำทาง คนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนเพราะไม่เชื่อ เขารับข้อมูลด้านเดียวจากบริษัทขายปุ๋ย มหาวิทยาลับ กรม กระทรวง มาทางเดียวกันหมดเลย เชื่อว่าสู้เคมีไม่ได้ สู้ฝรั่งไม่ได้…”
ด้วยลีลาธรรมดา ด้วยเสื้อผ้าราคาถูก และด้วยสำเนียงติดเหน่อสุพรรณ แต่ลองฟัง vision ชายไทยจากท้องไร่ท้องนาคนนี้ดูว่าระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง ใครรักชาติและจริงใจกว่า ระหว่างชาวบ้านกับรัฐมนตรี ใครมีภูมิปัญญามากกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันทั้งหมด แล้วตั้งสติสำรวจรากเหง้าของตัวเอง…

♦ An Inconvenient Truth …ฉบับ  Thailand ♦
ประเทศไทยเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๐๔ (แผนละ ๕ ปี) แผนนี้กำหนดให้ประเทศไทย ต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีการกู้เงินมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำถนน ทำเขื่อน ทำชลประทาน สร้างมหาวิทยาลัย และสถาบันทางการเกษตร ฯลฯ…วางแผนเปลี่ยนจากเกษตรแบบพึ่งพาตนเองเป็นเกษตรแผนใหม่
เกษตรแผนใหม่ ต้องทำเพื่อขาย พึ่งปุ๋ย พึ่งสารเคมี พึ่งตลาด…รัฐบาลบีบให้ผลผลิตราคาไม่สูงเกินไป โดยที่ราคาต้นทุนสูงขึ้นทุกปี เพื่อควบคุมเงินเพ้อไม่ให้สูง ราคาค่าแรงจะได้ถูก เหมาะสมที่ต่างประเทศจะมาลงทุนทำอุตสาหกรรมในประเทศไทย
อีกอย่างหนึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ ”ชาวนา” ทำนาขาดทุน ต้องขายที่นา และรับจ้างทำนา เมื่อทำไม่ไหว ก็มาขายแรงงานในเมือง กลายเป็นกรรมกรค่าแรงถูก…นี่เป็นแผนที่วางเอาไว้
สรุปว่า การที่รัฐช่วยเอื้อให้กลไกตลาด ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารราคาสูง เพื่อหวังผล ๒ ประการหลัก คือ
  • ทำให้ภาวะเงินเฟ้อไม่สูงเกินไป ค่าแรงถูก เหมาะแก่การลงทุนเป็นประเทศอุตสาหกรรม
  • ทำให้ชาวนาล้มละลาย (ย้ายตัวเองจากภาคเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม) จะได้มาขายแรงงานเป็นกรรมกรค่าแรงถูก
ถ้ามองให้เห็นชัดเชิงเปรียบเทียบเรื่องแผนฯและนโยบายที่ผิดพลาดนี้ ก็ต้องมอง “ญี่ปุ่น” เป็นกรณีศึกษา ญี่ปุ่นเศรษฐกิจเขาขึ้นอยู่ที่อุตสาหกรรม ภาคเกษตรไม่มีค่าทางเศรษฐกิจเลย ชาวนาญี่ปุ่นผลิตข้าวมาได้หนึ่งตัน รัฐบาลอุดหนุนสี่หมื่นบาท คือเศรษฐกิจติดลบเลย เพราะว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเลย แต่ว่าต้องเอาภาษีไปอุ้ม เพื่อให้ภาคเกษตรอยู่ได้ เพราะเขามองว่าข้าวคือความมั่นคงขาดไม่ได้หรอก
ถ้าชาวนาญี่ปุ่นไม่อยู่ประเทศก็จะขาดความมั่นคงไปเลย ถึงแม้จะผลิตแพงอย่างไรเขาก็ต้องผลิตเอง เขาไม่ซื้อ ถึงแม้จะมีอยู่น้อยเขาต้องรักษาให้ได้ ที่ดินปลูกข้าวญี่ปุ่นไม่ยอมแลกกับอะไรทั้งนั้น ญี่ปุ่นบอกเลยว่าไม่พูดเรื่องข้าวอย่างอื่นพูดหมด แต่ข้าวห้ามพูดเด็ดขาด เขาไม่ต่อรองเลยนะ เขารักษาขนาดนั้นยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น อะไรก็พูดได้หมดแต่ข้าวไม่พูดเด็ดขาด
จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาสูงๆเขายังเห็นความสำคัญของอาหารมากกว่าเศรษฐกิจ อุ้มเท่าไรก็ต้องอุ้มเพราะมันเป็นความมั่นคงที่ไม่มีอะไรจะไปแลกได้ อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าความมั่นคงทางอาหารมันเทียบกับเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ได้ อะไรมาแลกก็ไม่ได้ มีไทยนี้แหละไม่อุ้มแล้วยังไปเก็บภาษี ชาวนาต้องจ่ายภาษีเวลาส่งออก เก็บภาษีทางอ้อม ชาวนาจะขายข้าวได้ถูกกว่ากลุ่มส่งออก
อาหารถือว่าเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง การที่ไม่มีการส่งออกอาหารถือว่าเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง การช่วยเหลือเอาอาหารไปช่วยเหลือมันมีพลังมากกว่าเอาอาวุธไปขู่ด้วยซ้ำ
ภาคเกษตรต้องอุ้มไว้สุดชีวิต อันแรกก็คือเพื่อความมั่นคงประเทศ อันที่สองเอาไว้ต่อรอง เพื่อเอาไปใช้ในการหาประโยชน์อย่างอื่น ถ้าเห็นความสำคัญอย่างนี้ รัฐบาลต้องมองอีกแบบหนึ่งว่าชาวนาคือตัวความมั่นคง ต้องรักษาชาวนาให้ได้เพราะฉะนั้นชาวนาชาวไร่เกษตรกรทั้งหลายมีหนี้สินรวมกันไม่เกินล้านล้านบาท ตัวเลขนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต้องจัดการหนี้สินตรงนี้ให้ได้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นคง ถ้ามั่นคงแล้วนี้ประเทศก็เกิดความมั่นคงไปด้วย

….ทฤษฎี 2 สูงที่ควรจะเป็น…? ในมุมมอง อ.เดชา…
คนที่พูดบอกว่ายึดสองสูงจะรวย คนที่พูดนะรวยอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็รวยยิ่งกว่าเก่าอีก ถ้าสองสูงนี้ต้องเปลี่ยนระบบใหม่หมดเลย จะต้องเปลี่ยนระบบต่างชาติเป็นสองสูงหมดเลย เพราะว่าเก็บภาษีคนรวยเยอะแยะ ภาษีมรดกอย่างนี้ เราก็อุดหนุนคนจนให้อยู่ได้ มีสวัสดิการที่ดี คนจนก็อยู่ได้ อาหารแพงก็อยู่ได้เพราะว่ามันมีระบบเกษตรกร ระบบสวัสดิการที่เอามาจากคนรวยนี่เอง เกษตรกรเขามีสหกรณ์ที่ต่อรองได้ราคาผลผลิตเท่าไร พวกเขาก็ได้เต็มๆ ปัจจัยการผลิตเขาก็คุมได้ ตลาดเขาก็คุมได้ ฉะนั้นราคาสูงเขาได้เต็มๆเลย ผู้บริโภคก็ได้ความคุ้มครองจากรัฐบาล จากภาษีที่เก็บมาจากคนรวยในระบบสองสูงนี้ได้
แต่ว่าประเทศไทยนี้ไม่ได้หรอก ปัจจุบันยังแย่อยู่ถ้าเอาทฤษฎีสองสูงมาใช้ตายเลย มันยิ่งรวยไปใหญ่คนจนก็ยิ่งจนไปใหญ่ แบบนี้มันต้องดูบริบทไปด้วย บางประเทศก็ดีเพราระบบมันดี แต่ประเทศเรานี้มันแย่กว่าเก่า ปัจจุบันมันก็แย่อยู่แล้ว
ถ้าจะดูต้องดูที่บริบทว่าดีบริบทแบบไหน ไม่ดีบริบทแบบไหน แล้วไทยเราเป็นบริบทแบบไหน แต่ผมว่ามันไม่ดีหรอก ถ้าดีมันต้องมีบริบทที่ดิน มีการเก็บภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก ที่ชัดเจนมันก็จะดีทั้งคู่ แต่ว่าไม่ดีทั้งคู่การที่สหกรณ์ดี การที่เกษตรกรดีแต่ว่าผู้บริโภคตาย แต่ว่าภาษีก้าวหน้าดูแลผู้บริโภคดีนั้น จะไม่มาประยุกต์ที่ดิน เกษตรกร สหกรณ์ นั้นเกษตรกรก็ตาย

◊  ถอดรหัสแนวคิด อ.เดชา ◊
“…ผมได้รู้เลยว่าชีวิตเรามีความสุขได้โดยเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกน้อยมาก คนเราอยู่กับปัจจัยภายในเป็นหลัก แล้วต้องการของที่จำเป็นไม่เยอะ กินข้าวมื้อเดียวก็ได้ เสื้อผ้า 2 ชุดก็ได้ บ้านเล็กๆ ก็อยู่ได้ ไม่มีรายได้เลยก็ยังได้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าชีวิตต้องการอะไรบ้าง ชีวิตจริงๆ ปัญหาอยู่ที่จิตใจเป็นหลัก คนนี่ไม่เคยรู้ค่าของจริงๆ
อยู่ที่นั่นผมมีเวลา เห็นนกร้อง มองต้นไม้ มองและเข้าใจว่าทุกสิ่งสัมพันธ์กันยังไง ไม่ใช่คิดว่าจะขายเท่าไหร่ ตีเป็นเงินหมด ต้นไม้ให้ออกซิเจน ให้ความเย็น เราให้คาร์บอนฯมัน สัมพันธ์และพึ่งพิงกัน นกร้องเพลงโดยไม่คิดเงินสักบาท ไปขังมันทำไม มีความสุขมันร้องเอง ความคิดนี้เกิด กระบวนทัศน์เปลี่ยน..”




หลักการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มี 2 ข้อคือ…
1. มีชีวิตอย่างพอดี กินอาหารพอดี เครื่องนุ่งห่มพอดี ที่อยู่พอดี บวชพระแล้วจะรู้ว่าพอดีคือแค่ไหน อยู่พอดีแล้วจะไม่เดือดร้อน หาเงินนิดเดียว พอ มีเวลาเหลือเยอะ หาความสุขได้เยอะ ความสุขต้องมีเวลานะ ถ้าไม่มีเวลาไม่มีความสุขหรอก ไม่มีเวลาจะมีความสุขได้ไง มีเงินเป็นร้อยเป็นพันล้าน ไม่มีความสุขหรอก ถ้าไม่มีเวลาใช้มัน สิ่งที่มีค่าในปัจจุบันที่หายากคือเวลา เพราะเวลามีแค่ 24 ชม.แล้วเวลามักหมดไปกับสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขจริง เช่น เล่นเกม ยังไงก็ไม่พอหรอก เด็กบางคนตีสามตีสี่ยังไม่นอนเลย บ้าเกม มีความสุขหรือเปล่า ไม่ใช่หรอก เขาเรียกว่าหลง ถูกมายาพาไป
2. เวลาทำอะไร อย่าตั้งความหวัง ข้อนี้ยาก เพราะคนชอบคิดว่าฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง ตั้ง 100 ไปได้สัก 50 ก็ยังดี ใครไม่ตั้งอะไรจะไม่ได้ คนคิดแบบนี้ ตั้งต่ำได้ต่ำ ไม่ตั้งไม่ได้ ท่านพุทธทาสว่าอย่าไปตั้ง เราใช้สติปัญญาว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร
“..ท่านพุทธทาสบอกว่าทำงานแค่วันเดียว ก่อนนอนบอกตัวเองว่าตายก็ไม่เสียดายแล้ว วันนี้ทำเต็มที่ พรุ่งนี้ตื่นมา อ้าว ยังไม่ตาย มีงานก็ทำต่อไป เย็น นอน ท่านบอกทำวันเดียว แต่หนังสือท่านเยอะจนเราอ่านไม่หมด บางคนคิดใหญ่โต หนังสือสักเล่มยังไม่ได้เขียนเลย
วาดวิมาน 10-20 ปี แต่ไม่ทำอะไร ไม่มีความหมาย ปัจจุบันนี่แหละของจริงที่สุด ฝรั่งบอกว่าดูแลปัจจุบันให้ดี อนาคตมันดูแลตัวมันเองได้ พรุ่งนี้ไม่เคยมาถึงหรอก คิดแบบนี้คือของจริง คนทุกวันนี้เครียดเพราะคิดถึงอดีตและอนาคต กลัวอนาคต กลัวทำไม ยังมาไม่ถึงเลย อนาคตก็อยู่ที่ปัจจุบันนี่แหละ อยู่ที่กรรม ทำเหตุให้ดี ผลดีเอง ถ้าไม่ดี แปลว่าต้องมีเหตุไม่ดีบางอย่างซึ่งถ้าคุณคุมไม่ได้ก็ช่างมัน
ต้องเอาชีวิตไปทดลองให้มันละลายโปรแกรมที่สร้างมาตั้งแต่เด็กออกไป พอคิดได้แล้ว มีกระบวนทัศน์ใหม่ อยู่ที่ไหนก็ไม่ลำบาก เคยกินข้าวมื้อเดียว มีเสื้อผ้า 2 ชุด คุณจะไม่มีความขัดสนอีกแล้ว ชีวิตคุณมั่นคงแน่นอน
ชีวิตที่ดีประกอบด้วยอะไรบ้าง อาหารที่ดี กินไม่ต้องมากด้วย อากาศที่ดี ถามว่าหาที่ไหน คุณก็ทำสิ่งแวดล้อมให้ดีสิ ปลูกต้นไม้ เรื่องที่อยู่ เต๊นท์ยังได้ ถ้าไม่มีสมบัติอะไร ดูอย่างคนจนที่อินเดียโน่น เทียบกับเขาแล้วเรายังมีอะไรที่เกินพอดีอยู่เยอะ ผมเองผมว่าผมตัดได้อีกหลายอย่าง เสื้อผ้า ต่อไปเดี๋ยวผมทอให้เอง ตอนนี้ซื้อมือสองไปก่อน 100-200 ใส่สบายจะตาย
ชีวิตคนว่ายากก็ยาก ถ้าคิดว่าง่ายก็ง่าย อยู่ที่วิธีคิด อยู่ที่วิถี การเรียนรู้ ฟัง อ่าน สังเกต ต้องกล้าลอง คนส่วนใหญ่ไม่กล้าลอง

ทุกวันนี้…หากมีคนถาม อ.เดชา ในวัย ๖๔ ปีว่า เหนื่อยไหมกับการทำงานที่ต้องสู้กับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายนายทุนและทางราชการ
อ.เดชาจะตอบเสมอว่า “ไม่เหนื่อยหรอก เราต้องรู้เป้าหมายชีวิตของเรา ถ้าแค่ทำเพื่อตัวเองก็ไม่ยากเท่าไหร่ เมื่อเรารู้เท่าทันก็อาจปลีกวิเวกไปหาความสุขเฉพาะตนได้ แต่เรายังทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะยังมีอุเบกขาไม่พอ คือเห็นแล้วยังทนไม่ได้ เมื่อเห็นปัญหาที่รู้ว่าเราพอจะช่วยได้ การช่วยคนอื่นไม่ใช่ว่าเราจะทุกข์ แต่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้ได้ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูง”
สิ่งที่ อ.เดชาทำไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เกษตรกร และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการดำเนินชีวิต และเป็นการส่งต่อภูมิปัญญาอันเป็นรากฐานที่ยั่งยืนของสังคม…นี่ล่ะ “คนไทยตัวอย่าง”

    เรวัติ  น้อยวิจิตร  สุพรรณบุรีนิวส์  rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น