รสริน ร่มโพธิ์ชี บรรณาธิการ นสพ.ชนบทนิวส์ ฝากแนะนำ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 ซึ่งเป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือระบบอื่นๆ ในคนและสัตว์ เช่น หนู ไก่ วัว ควาย สุนัข แมว กระต่าย และสุกร มีรายงานการพบเชื้อมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1965 ประกอบด้วยเชื้อสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ และพบได้ทั่วโลก โดยในเขตอบอุ่น (temperate climates) มักพบเชื้อไวรัสโคโรน่า ในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ โดยอาจมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เช่น เป็นไข้หวัดธรรมดา หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง อาจก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรงเฉียบพลันและมีการล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจ และเสียชีวิตได้ เช่น ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สแต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง (ยกเว้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย) ในคนที่เป็นโรคไข้หวัดก็มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ โดยประมาณร้อยละ 15 การติดเชื้อไวรัสทั้งหมด โคโรน่าพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากในเด็ก อาจพบมีการติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังการติดเชื้อ แม้จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย แต่ก็เป็นข้อควรระวังสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งอาจต้องเดินทางไปต่างแดน
เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส พบการระบาดปี ค.ศ. 2003 โดยพบเริ่มจากประเทศจีนแล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก พบรายงานผู้ป่วยโรคซาร์สทั้งสิ้นมากกว่า 8,000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 750 ราย แต่ขณะนี้ (ปี ค.ศ. 2013) ไม่พบการระบาดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ โรคโคโรน่า 2012 นี้ ไม่ใช่โรคซาร์ส เป็นคนละโรคกัน เนื่องจากมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรน่าคนละสายพันธุ์
ระยะฟักตัวของโรค
เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 นี้ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะแสดงอาการ เมื่อใดหลังจากติดเชื้อ แต่สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่าโดยทั่วไป โดยเฉลี่ยมีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 4 วัน
MERS-CoV คืออะไร ?
MERS-CoV ย่อมาจาก Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ก่อโรคซาร์ส แต่คนละสายพันธุ์ เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง โดยพบการติดเชื้อนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี ค.ศ. 2012 1
ระบาดวิทยา
ปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 แล้วจำนวน 496 ราย เสียชีวิตแล้ว 93 รายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญและบุคลากรทางการแพทย์ใน 17 ประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น (ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557) 2 โดยยังไม่พบผู้ติดเชื้อนี้ในประเทศไทยแต่ก็พบว่ามีความเสี่ยงเนื่องจากมีผู้แสวงบุญชาวไทยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในประเทศแถบตะวันออกกลาง และมีนักท่องเที่ยวแถบตะวันออกกลางเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ทำให้อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังต่อไป 3
แนวทางการเฝ้าระวัง 4
สำนักงานระบาดวิทยาได้จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 ในประเทศไทย โดยกลุ่มผู้ป่วยที่จะต้องทำการเฝ้าระวัง ได้แก่
- ผู้ป่วยปอดบวมรุนแรง หรือมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันที่ไม่ทราบเชื้อที่เป็นสาเหตุ
- ผู้ป่วยปอดบวมที่มีภาวะเสี่ยงต่างๆ ดังนี้
- อาศัยหรือเดินทางจากประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วง 14 วันก่อนป่วย
- เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยปอดบวมในช่วง 14 วันก่อนป่วย
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เข้าข่าย หรือ ผู้ป่วย ในช่วง 14 วันก่อนหรือหลังป่วย
- ผู้ป่วยปอดบวมที่เกิดเป็นกลุ่มก้อน คือ พบผู้ป่วยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ที่เวลาเริ่มป่วยห่างกันไม่เกิน 14 วัน ในชุมชนเดียวกัน
- ผู้ที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เข้าข่าย หรือ ผู้ป่วย ในช่วง 14 วันก่อนหรือหลังป่วย
การติดต่อ
ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเชื้อไวรัสนี้จะแพร่กระจายหรือติดต่อกันได้อย่างไร แต่ก็พบว่ามีการติดต่อระหว่างคนได้ โดยมักจะพบได้ในวงจำกัด คือ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และญาติที่ดูแลผู้ป่วย 1
อาการสำคัญ
โดยทั่วไปจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ไข้ ไอ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการหอบ หายใจลำบาก ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอาการรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต 1
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้สูง ร่วมกับ
ปอดบวมรุนแรง และไม่ทราบว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดใด อาจจะแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส oseltamivir ในขนาดที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ได้5 แต่โดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น1
คำแนะนำในการปฏิบัติตัว 1,3
- ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โดยควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หรืออาจใช้แอลกอฮอล์เจลแทนได้ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่มีอาการไอ จาม
- ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่แออัด หากจำเป็นต้องเข้าไปในที่แออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ในกรณีที่มีอาการไอ จาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
รสริน ร่มโพธิ์ชี บรรณาธิการ นสพ.ชนบทนิวส์
เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณบุรีนิวส์ rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น