มหาวิทยาลัยนเรศวรชู “ระบำชาวดินรำพัน”
ลีลาจากหัตถศิลป์พื้นถิ่น เครื่องปั้นดินเผา
หนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมชุมชนทุ่งหลวง คีรีมาศ
สุโขทัย
“ระบำชาวดินรำพัน” เมื่อแรกได้ยินชื่อนี้
ก็ให้คิดว่าคงเป็นศิลปะการแสดงที่เปรียบเปรยชาวดินผู้ต่ำต้อยกับชาวฟ้าผู้สูงศักดิ์
จนกระทั่งได้ลงพื้นที่ศึกษาและพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ ในนามของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรณ ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยจึงได้ถึงบางอ้อว่า
ระบำชาวดินรำพันนั้นหมายถึงดินจริง ๆ
“Culdutainmentคือการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมอย่างสนุกสนาน
อยากเรียนรู้ และอยากกลับมาเที่ยวใหม่ เป็นการท่องเที่ยวอย่างเก๋ไก๋
เที่ยวแบบอยากเรียนรู้พื้นถิ่นอย่างลึกซึ้ง และระบำชาวดินรำพันคือหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวของชุมชนทุ่งหลวง
นับเป็นนวัตกรรมของชุมชนทุ่งหลวง เพราะเป็นการนำรูปแบบและเรื่องราวของเครื่องปั้นดินเผา
มาประยุกต์เป็นท่วงท่าระบำ โดยชุมชนช่วยกันคิดประดิษฐ์ขึ้นมาเอง”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล
ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินเกริ่นถึงที่มา
“ระบำชาวดินเป็นการแสดงพื้นบ้านของชุมชนชาวทุ่งหลวง
เพื่อต้องการเล่าเรื่องเครื่องปั้นดินเผาที่มีมาแต่โบราณให้แก่เด็กรุ่นหลังได้รู้จัก
ภาคภูมิใจ และต้อนรับนักท่องเที่ยว แขกบ้านแขกเมือง
โดยเป็นการเล่าผ่านเสียงเพลงและท่วงท่าระบำที่ชุมชนช่วยกันคิด ช่วยกันแต่งขึ้นมา”นายวันชัย
โมรัษเฐียร รองนายกเทศมนตรีตำบลทุ่งหลวง
เล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของการแสดงชุดนี้
ป้าเฉลิม
เสาวนิตย์ คนในชุมชนบ้านทุ่งหลวง หนึ่งในผู้ประดิษฐ์ท่ารำระบำชาวดินรำพันเล่าว่า
“การแสดงระบำชาวดินนี้มีผู้แสดงทั้งหมด ๑๕ คน ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นปู่
ย่า ตา ยายในชุมชนนี่เอง โดยเล่าเรื่องตั้งแต่เมืองสุโขทัย มีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญ
สาเหตุที่ต้องเล่าเรื่องเมืองสุโขทัยก็เนื่องมาจากมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องปั้นดินเผาของชาวทุ่งหลวง
นั่นคือ ในอดีตพระยาลิไททรงโปรดปรานงานฝีมือมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปั้นดินเผา ท่านได้นำหม้อกรัน
ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาสิริมงคลของบ้านทุ่งหลวงไปมอบให้กับเพื่อนของท่าน”
คำบอกเล่าของป้าเฉลิมสอดคล้องกับตำนานเครื่องปั้นดินเผาของทุ่งหลวงที่ว่า
เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย
มีกรรมวิธีการผลิตที่สืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สืบต่อกันมายาวนาน ดังปรากฏในบันทึกของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เมื่อครั้งเดินทางมาสำรวจมณฑลพิษณุโลก
เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ความตอนหนึ่งว่า“วันที่ ๑๘ เวลาตื่นนอนตอนเช้า
พระยาสุโขทัยเอาหม้อกรันมาให้ ๓ ใบ เป็นหม้อที่ตั้งใจทำอย่างประณีตภาษาบ้านนอก
เขาทำที่บ้านทุ่งหลวง อยู่ใต้เมืองสุโขทัยฝั่งตะวันตก หม้อใหญ่กระพุงเกือบ ๒ ศอกเขาก็ทำ
มีชุมพละสีหสงครามให้มาแต่วัง ไม้ขรก็มี”
หม้อกรันที่กล่าวถึงนี้
ในบันทึกของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ระบุไว้ว่า เป็นหม้อน้ำในสมัยโบราณที่เป็นรูปแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวง
ด้วยกรรมวิธีการผลิตทำให้หม้อกรันมีความเย็นกว่าหม้อปกติทั่วไป นอกจากนี้หม้อกรันยังเป็นหม้อสิริมงคล
ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยพระร่วงครองเมืองสุโขทัย โดยใช้เป็นวัตถุมงคลสำหรับการขึ้นบ้านใหม่
การแต่งงานออกเรือน และมีความเชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งที่ไม่ดี สิ่งชั่วร้ายได้
มีความหมายดังนี้
ฝาปิด เรียกว่า
ฝาระมี หมายถึง ความมั่งมีศรีสุข
กระพุง หมายถึง
ความอุดมสมบูรณ์ มีกิน มีใช้
ฐาน หมายถึง
รากฐานในความมั่นคงในการดำรงชีวิต
นายวันชัย โมรัษเฐียรกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในอดีตชาวทุ่งหลวงนิยมนำหม้อกรันมาใส่น้ำดื่ม
รวมถึงใช้เก็บข้าวปลาอาหารต่าง ๆ เพื่อเป็นการถนอมอาหาร
เรียกว่าแทนตู้เย็นในสมัยนี้ได้อย่างสบาย ๆ”
หากถามถึงใจความสำคัญของการแสดงระบำชาวดินรำพัน
แน่นอนว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราว กระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผา
โดยป้าเฉลิมเน้นว่า
“ที่เห็นย่ายายกระเดียดกระด้ง
กระจาด เป็นการสื่อให้เห็นว่าสมัยก่อนทำเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้ในการแลกเปลี่ยน
ไม่ใช่ค้าขาย โดยนำดินเผาไปแลกอาหารและสิ่งจำเป็น เช่น ข้าว ข้าวเปลือก ถ่าน กล้วย
อ้อย แลกแบบไหต่อไห หม้อต่อหม้อส่วนเกวียนแสดงถึงการขนส่ง
นำดินเผาใส่เกวียนไปแลกที่หมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งใช้เวลาในเดินทางกันเป็นเดือน ๆ”
เรียกได้ว่า
ทุกลีลา ท่วงท่าการแสดงล้วนมีความหมายทั้งสิ้น
การแบกฟืน
สื่อว่า การเผาเครื่องปั้นดินเผาในอดีตใช้ฟืนไม้ไผ่ป่าเท่านั้น เพราะเวลาเผาเมื่อความร้อนได้ที่จะมีความแรงสูงถึง
๘๐๐ - ๙๐๐ องศา
การถือพระพิฆเนศ แม่พระธรณี เป็นการบอกเล่าเก้าสิบ
ขออนุญาตก่อนลงมือทำเครื่องปั้นดินเผา พร้อมการถือบายศรี เป็นการสักการะบูชา
การหาบดิน
ถือจอบ สื่อให้รู้ว่า สมัยก่อนไม่มีรถ การขุดดินต้องถือจอบ หาบตะกร้าไปขุดดิน
ขนทราย แล้วนำมาแช่น้ำ ใช้เท้าย่ำ เพราะไม่มีรถอัดดินเหมือนปัจจุบัน
“สื่อทุก ๆ
ชิ้นล้วนสื่อให้เห็นการทำเครื่องปั้นดินเผาในอดีตที่ใช้มือทั้งหมด
ตั้งแต่การเหยียบดินด้วยเท้าในรางไม้ ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าดินกับทรายจะเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
จากนั้นก็คั้นเพื่อหาก้อนกรวดออก ปั้นก้อน ขึ้นรูปบนแป้นไม้
แล้วนำมาตีอีกครั้งหนึ่ง”เรียกว่ากว่าจะได้หม้อสักใบต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่นอุตสาหะไม่ใช่น้อย
เมื่อถามถึงการสืบทอดการแสดง
“ระบำชาวดินรำพัน” เป็นที่น่ายินดีว่า จากรุ่นปู่ย่าตายายได้มีการสืบทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
โดยป้าเฉลิมเล่าว่า
“ทางโรงเรียนวัดลายมิตรภาพและโรงเรียนวัดกลางได้นำระบำชาวดินของรุ่นยายไปประยุกต์
สอนให้นักเรียนที่สนใจ โดยเน้นการถือเครื่องปั้นดินเผา
เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น ส่วนเพลงจะเป็นเพลงเดิม”
ระบำชาวดินรำพันรุ่นเด็ก
นับเป็นกลยุทธ์การสืบทอดด้วยวิธีประยุกต์ให้มีความร่วมสมัย ส่วนชาวดินรำพันรุ่นยายคือการอนุรักษ์
การสะท้อนกลิ่นอายดั้งเดิม ความเป็นธรรมชาติ ชีวิตชีวา อันสุดแสนทรงเสน่ห์
ระบำชาวดินรำพันคือหนึ่งในการรังสรรค์ภูมิปัญญา
ศิลปะ วัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ตั้งแต่วัดโบราณ ชุมชนโบราณ
เครื่องปั้นดินเผา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น โฮมเสตย์ และศิลปะการแสดง อันสะท้อนวิถีชีวิตของชาวทุ่งหลวงอำเภอคีรีมาศ
จังหวัดสุโขทัย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่รอให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจไปยลเยือน
พรปวีณ์ ทองด้วง สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินมหาวิทยาลัยนเรศวร
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น