วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วช.สกัดยุทธศาสตร์ยานยนต์ไฟฟ้าหวังให้ทุนวิจัยแบบมุ่งเป้าสนองนโยบายรัฐบาล



หลายหน่วยงานร่วมวิพากษ์ร่างยุทธศาสตร์ฯ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หวังวางกรอบวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าแบบมุ่งเป้า สนองนโยบายรัฐบาล


นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการประชุมวิพากษ์ร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านยานยนต์ไฟฟ้า ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ วันนี้ (25 ส.ค.59) ว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ยกร่างยุทธศาสตร์ฯ ด้านยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันโลกที่ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการส่งเสริมและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อนในหลายประเทศ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงเท่าตัว คือ เพิ่มจาก 45,000 คัน เป็น 113,000 คัน และคาดว่าจะมียอดจำหน่ายถึง 20 ล้านคันในปี 2563 โดยจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องศึกษาวิจัยให้เห็นแนวทางในด้านนี้อย่างชัดเจน ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีด้านยานยนต์เป็น 1 ในกลุ่มเรื่องงานวิจัย


สำหรับยกร่างยุทธศาสตร์ฯ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการประจุไฟฟ้ายานยนต์ และยุทธศาสตร์ส่งเสริมการศึกษาเทคโนโลยีและระบบความปลอดภัยในการจัดการหน่วยกักเก็บพลังงาน หรือ แบตเตอรี่ ให้ใช้ได้ทน โดย วช.ได้บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ให้มีส่วนร่วมในการวิจัย เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์และการนำไปใช้ให้เกิดผลในการพัฒนาประเทศด้านยานยนต์ไฟฟ้า จึงจัดให้มีการประชุมวิพากษ์ยุทธศาสตร์ฯ ด้านยานยนต์ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ให้เป็นแนวทางการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ 5 ปี (2560-2564) และประกาศใช้ต่อไป




อย่างไรก็ตาม วช.วางแนวทางให้การวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้า บรรจุอยู่ในประเภทการจัดสรรทุนแบบมุ่งเป้า โดยจะกำหนดเป็นกรอบวิจัยรายปี และติดตามความคืบหน้าทุกปี เพื่อไม่ให้เกิดการวิจัยซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านผู้ร่วมให้ข้อเสนอแนะฯ เห็นว่า วช.ยกร่างยุทธศาสตร์ฯ ด้านยานยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างครอบคลุม แต่ต้องขึ้นอยู่กับการต่อยอดของผู้ปฏิบัติจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะภาคเอกชนต่างให้ความสนใจ และเห็นว่าหากมีการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ก็มีโอกาสไปสู่เป้าหมายได้ เนื่องจากประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นกับยานยนต์ไฟฟ้าจากกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าด้วย



จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
 เรวัติ น้อยวิจิตร   hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น