วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วช.จัดอบรม จนท.ตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 1



เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 เวลา 9.00 น.ที่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดการอบรม “พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 1” โดยมี ดร.ปัทมารัตน์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย เป็นประธานในพิธีเปิด
ดร.ปัทมารัตน์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย กล่าวว่า สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นหน่วยงานทางด้านนโยบายในการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินงานต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และได้จัดทำพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ขึ้น ฉบับนี้เป็น ฉบับแรกของ วช. และได้จัดการอบรม “พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 1”เพื่อให้ เจ้าหน้าที่ วช. และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มีความรู้ ความเข้าใจ และปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558




นายบวร บุญลพ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า เดิมการวิจัยหรือการทดลองสัตว์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีกฎหมายที่จะมาควบคุมดูแลมาตรฐานของการดำเนินงาน จึงทำให้มีปัญหาทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศจะมีมาตรฐานของการวิจัย พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาตร์มีมาตรฐานสากล และได้รับการรับรอง และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ โดยผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ตรา “พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558” มีผลบังคับใช้ 180 วันหลังประกาศพระราชบัญญัติ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เว้นแต่มาตรา 22(4) ให้บังคับใช้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 โดยต้องมีสัตวแพทย์อยู่ประจำอย่างน้อยจำนวน 1 คน

ข้อดีของการที่ประเทศไทยมี พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 มีหลายประการ ที่ชัดเจนที่สุดคือ การสร้างความตระหนักถึงจรรยาบรรณของผู้ใช้สัตว์ ให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดียังคงมีช่องโหว่ในหลายๆ ด้าน เช่น ชนิดพันธุกรรมสัตว์ที่ในบางครั้งนักวิจัยจำเป็นต้องใช้ แต่อยู่นอกเหนือจาก พรบ. ซึ่งในข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการควบคุมสัตว์ทดลองต้นสังกัดว่าจะอนุโลมได้หรือไม่

นายบวร บุญลพ อัยการประจำสำนักอัยการสูงสุด ยังกล่าวทิ้งทาย หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแล้วหวังว่าเจ้าหน้าที่ วช. และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ จะมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ต่อไป





อนงค์วดี จีระบุตร ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เรวัติ  น้อยวิจิตร  นสพ.พลังชน  rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น