วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วช.ร่วมกับ 3 หน่วยงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์สาธารณสุข



สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ 3 หน่วยงาน พัฒนาระบบโลจิสติกส์สาธารณสุข หวังสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการข้อมูลยาให้เกิดความรวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดงบประมาณ ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล


วันนี้ (28 พ.ย.59) ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัยด้านการศึกษาวิจัย เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและแนวทางการริเริ่ม Big Data ด้านสาธารณสุขสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอลประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย มหิดล และสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น โดยมีศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ ขาดการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ทำให้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นหากเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกันในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ ลดความผิดพลาดจากการจ่ายยา และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลทิศทางงานวิจัยของชาติ ได้เห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการฯ โดยร่วมมือกับ 3 หน่วยงานดังกล่าวพัฒนาระบบโลจิสติกส์สาธารณสุข เพื่อให้ได้งานวิจัยที่ตรงเป้าหมาย มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ


ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแสดงความยินดีกับความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน พร้อมระบุว่า ข้อมูลคลังยาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องและประหยัด ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้คงมิใช่เพียงแค่ความเข้าใจ แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง


ด้านศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ และได้รับการสนับสนุนจาก วช. อย่างต่อเนื่อง หากความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานครั้งนี้สำเร็จ จะเป็นต้นแบบใช้ทั่วไปในระบบสาธารณสุข ทำให้ระบบบริการมีความโปร่งใสและคล่องตัว


ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง

เช่นเดียวกับเภสัชกรอำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เชื่อว่า ระบบโลจิสติกส์สาธาณสุขจะทำให้การบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ง่ายขึ้น และมีข้อมูลในการวางแผนด้านยาที่เชื่อมโยงถึงกันได้ สามารถตอบสนองได้ทุกหน่วยงาน หากระบบสมบูรณ์จะช่วยเชื่อมโยงถึงผู้ป่วยกรณีการแพ้ยาประเภทต่าง ๆ ได้ด้วย


ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าววว่า ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่างานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ช่วยให้ทราบเรื่องคลังเก็บสำรองยา การจ่ายยาให้คนป่วย เป็นต้น ซึ่งเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกัน การทำงานเช่นนี้ ต้องมีนักวิจัย วิศวกร เภสัชกร และแพทย์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดทำระบบ และเมื่อสำเร็จก็จะนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทอล หรือ 4.0 หมายถึงการใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์ 081-9107445
............................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น