จังหวัดสระบุรีจัดพิธีเนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวงปีที่ 63 น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
โดยโครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้งซึ่งมีสาเหตุมาจาก ความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ จากพระราชกรณียกิจ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร ในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทรงทราบว่าภาวะแห้งแล้ง ได้ทวีความถี่ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ในทุกภาคของประเทศ
และจากการที่ได้มีเส้นทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน ทางอากาศยานดังกล่าว ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกัน จนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ จาก พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ จนถึงปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินในการสนองพระราชประสงค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512 ประสบความสำเร็จเกิดการรวมของกลุ่มเมฆหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ และเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด และเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนถึงปัจจุบัน และคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งฝนหลวง” โดยกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และในปีนี้เป็นปีที่ 63
นอกจากนี้โครงพระราชดำริฝนหลวง ได้สร้างคุณูปการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศไทย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงคิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้น ยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งได้มีการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในอีกหลายประเทศก็ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการที่จะนำเทคนิคและวิธีการทำฝนหลวงไปปรับใช้แก้ปัญหาความแห้งแล้งในประเทศของตัวเอง จึงถือได้ว่าโครงการพระราชดำริฝนหลวง นับเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพอย่างแท้จริงเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและคนทั่วโลก
(คนธรรมดา ม้าตัวเดียว) บรรณาธิการข่าว
เรวัติ น้อยวิจิตร Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น