วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

พิษณุโลก ผนึกพลัง พลิกฟื้นพระราชวังจันทน์ ดินแดนประวัติศาสตร์



มหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับกองทัพภาคที่ ๓ เปิดเวทีเสวนาวิชาการรวบรวมองค์ความรู้  บูรณะ พัฒนาพระราชวังจันทน์รำลึกวีรกรรมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับกองทัพภาคที่ ๓ จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “รูปแบบสัณฐานพระที่นั่งในพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและทิศทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก” ขึ้น เพื่อสกัดองค์ความรู้ในเชิงรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่งในพระราชวังจันทน์ และทิศทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์โดยนายปริญญา ปานทอง รองอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดการเสวนา มีผู้แทนจากกองทัพภาคที่ ๓ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรผู้แทนจากภาครัฐ/เอกชน ตลอดจนนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า ๓๐๐ คน




      เวทีเสวนาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรมได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต และรองศาสตราจารย์ ดร.มังกร ทองสุขดี นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ร่วมนำเสนอองค์ความรู้ ความคิดเห็นในมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพระราชวังจันทน์ พร้อมการนำเสนอรูปแบบสัณฐานพระที่นั่งในพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

สำหรับเนื้อหา ข้อมูล ข้อวิพากษ์ ความคิดเห็นจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินจะรวบรวม จัดทำเป็นหนังสือและวีดิทัศน์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และเป็นฐานข้อมูลสำหรับการบูรณะ พัฒนา จัดสร้างพระที่นั่งพระราชวังจันทน์จำลอง ปรับภูมิทัศน์ภายในพระราชวังจันทน์ และปรับปรุงศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในเดือนธันวาคม ๒๕๕๘





พิษณุโลกผนึกพลัง พลิกฟื้นพระราชวังจันทน์
ดินแดนประวัติศาสตร์ สถานที่พระราชสมภพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

            “...สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่ ทรงอุทิศพระองค์กอบกู้เอกราชปกป้องรักษาบ้านเมืองให้ปวงประชาราษฎร์ร่วมเย็น จนประวัติศาสตร์ได้จารึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจไว้อย่างน่าภาคภูมิ ขอวีรกรรมที่ทรงเสียสละเพื่อรักษาแผ่นดินด้วยความอดทน กล้าหาญ จงเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนได้ตระหนัก สำนึกในชาติภูมิของตน และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อดำรงไว้ซึ่งประโยชน์สุขส่วนรวม”




            พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสงานรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครองสิริราชสมบัติครบ ๔๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ซึ่งตรงกับวันสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร จึงนับเป็นพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมพระราชกรณียกิจ พระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในฐานะที่ได้รับพระราชทานพระนามของพระองค์เป็นชื่อของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของพระราชวังจันทน์ สถานที่พระราชสมภพของพระองค์ อันเป็นโบราณสถานสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก และอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานดังคำกล่าวของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
            “เมื่อมีคนถามถึงพระราชวังจันทน์ ถ้าเราชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งชาวพิษณุโลกไม่มีองค์ความรู้ที่รวบรวมไว้เลยคงตอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก ถ้าเราฟื้นฟูพระราชวังจันทน์ขึ้นมา ก็จะเป็นจุดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นเมืองเอกของเมืองหลวงในแทบทุกยุคทุกสมัย”
ทั้งนี้ในช่วง ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน ได้มีการศึกษาสถานภาพ องค์ความรู้ และรูปลักษณ์สัณฐานของพระราชวังจันทน์ จากร่องรอยที่หลงเหลือจากซากโบราณสถาน ตลอดจนเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เชื่อมโยงกับแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุร่วมสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอื่น ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อทำการสันนิษฐาน วิเคราะห์รูปลักษณ์พระที่นั่ง จนถึงปัจจุบันได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กองทัพภาคที่ ๓ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ฯลฯ ดำเนิน




การบูรณะและพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตามแผนการบูรณะพระราชวังจันทน์ของสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กรมศิลปากร ประกอบด้วย

³ ดำเนินการจัดทำพระที่นั่งจำลองตามรูปแบบสัณฐานของมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณลานพระราชวังจันทน์ ด้านหน้าแนวกำแพงการขุดค้น ทิศตะวันออกโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน
“จากกระบวนการศึกษาพบว่า พระราชวังจันทน์ในยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีลักษณะอาคารเป็นรูปตัวที คือด้านหน้าคล้ายท้องพระโรง เปิดโล่ง เหมือนศิลปะสมัยสุโขทัย สำหรับพระที่นั่งที่ประทับเป็นอาคารลักษณะยาวขนานกับแม่น้ำน่าน โดยลักษณะของยอดปราสาทอนุมานได้ว่า เป็นแบบเดียวกับพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะของศิลปกรรมร่วมสมัย”
³จัดทำข้อมูล รูปลักษณ์สัณฐานส่วนต่าง ๆ ภายในพระราชวังจันทน์ในรูปแบบป้ายไฟเพื่อการท่องเที่ยว กำหนดเส้นทางการชม เดินเท้า และเส้นทางจักรยาน เชื่อมต่อทุกส่วนภายในพระราชวังจันทน์ ตลอดจนการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลสำหรับการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องพระราชวังจันทน์
³ ดำเนินการอนุรักษ์เรือนไม้เก่า ๒ หลัง โดยเคลื่อนย้ายไปบริเวณพื้นที่สระสองห้อง เพื่อไม่ให้บังวัดวิหารทองและอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเรือนไม้เก่า ๒ หลัง ดำเนินการปรับเป็นสำนักงาน ๑ หลัง และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ๑ หลัง
³ ดำเนินการปรับและเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนของการจัดแสดงตามคำแนะนำจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร พร้อมจัดทำและปรับปรุงส่วนต่าง ๆ เช่น รั้ว ป้าย ป้อมยาม ถนน เป็นต้น
³ ดำเนินการจัดลานจอดรถที่สามารถรองรับรถบัสจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ คัน และรถยนต์ส่วนบุคคลจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕๐ คัน
ทั้งนี้จากการจัดเสวนาวิชาการ “รูปแบบสัณฐานพระที่นั่งในพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และทิศทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก” เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม  ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการสกัดองค์ความรู้ในเชิงรูปลักษณ์สัณฐานพระที่นั่งในพระราชวังจันทน์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม และนักวิชาการจากหลากหลายหน่วยงานอันจะเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดทิศทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์ต่อไป
อีกไม่นาน พระราชวังจันทน์ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของประเทศชาติอย่างสมบูรณ์แบบ

 พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ 
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น