เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรสาคร ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ชาวนา ก่อนจะมีการรวมตัวเคลื่อนไหวใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ
วันที่ 16 มีนาคม 2558 ที่ศูนย์ราชการจังหวัดสมุทรสาคร เครือข่ายหนี้สินชาวนากว่า 100 คน บุกศาลากลางจังหวัดฯ ร้องศูนย์ดำรงธรรม เพื่อยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และรัฐบาล ให้เร่งแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา โดยมี ว่าที่ร้อยตำรวจโทอาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงมารับเรื่องด้วยตนเอง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของจังหวัดฯ โดย เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้เรียกร้องไปยัง นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับปากต่อที่ประชุมแกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่าจะนำเรื่องทั้งหมดเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ให้ได้รับทราบปัญหา และหาทางแก้ไขให้ว่า ถ้าไม่ทำตามข้อตกลงที่รับปากไว้ ชาวนาจากทั่วประเทศจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ เพื่อเรียกร้องด้วยตนเอง
จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งถูกเจ้าหนี้ไล่ฟ้องบังคับคดี เป็นผลให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และถูกบังคับยึดทรัพย์สิน ความเดือดร้อนของเกษตรกรลูกหนี้หลายหมื่นราย จึงพร้อมใจกันเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ ว่า หลังจากมีการส่งตัวแทนเจรจากับภาครัฐ เกี่ยวกับ ความเดือดร้อนที่เกิดจาก ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ กลายเป็นปัญหาความเดือดร้อนสำหรับเกษตรกรที่มีหนี้สิน ทั้งในส่วนของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกหนี้ทั่วไป
และยังได้ถูกสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เตรียมที่จะไล่ฟ้องร้องบังคับคดีเพื่อยึดสินทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินทำกิน จึงได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้เร่งช่วยแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ด้วยการเร่งเบิกจ่ายเงินตกค้างจากกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำเอามาแก้ไขปัญหาหนี้สินเบื้องต้นให้กับเกษตรกร โดยเม็ดเงินดังกล่าวมีมูลค่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดจะต้องส่งคืนให้กับรัฐ จากการบริหารงานที่ผิดพลาดในอดีต ที่ได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับการใช้เงินผิดประเภท โดยอยากให้นำเงินก้อนนี้ มาจัดการซื้อหนี้เพื่อรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกร โดยเกษตรกรก็จะชดใช้หนี้ให้กับทางกองทุนฯ แทนการถูกบังคับคดีจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูอย่างแท้จริง
ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ควรจะนำเอามาแก้ไขและช่วยเหลือเกษตรในเบื้องต้นก่อนที่จะส่งคืน เพราะในปัจจุบัน เนื่องจากเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ที่เป็นสมาชิกจำนวนมาก กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากภาวะเศรษฐกิจ และมีโอกาสสูงที่จะต้องสูญเสียที่ดินทำกิน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกษตร รวมถึงการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ไม่มีผลเป็นรูปธรรมมากนัก เกษตรกรลูกหนี้ส่วนใหญ่ ยังคงถูกเจ้าหนี้เดินหน้าฟ้องบังคับคดี ซึ่งอยากให้รัฐบาลลงมาดูแลและช่วยแก้ปัญหา ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรของประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพในด้านต่างๆ ของเกษตรกร เพื่อรองรับการมาถึงของ AEC เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาใหญ่ของภาคการเกษตรไทย คือ หนี้ และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยลบเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ จึงได้รับความเดือดร้อนเป็นทวีคูณ ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ได้กำหนดให้มีการเคลื่อนไหว และมีการส่งตัวแทนเข้าเจรจากับรัฐบาล โดยได้รับการยืนยันจาก นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจะเร่งนำปัญหาดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยสมาชิกเครือข่ายฯ และ เกษตรกร จะรอฟังข้อสรุปจากรัฐบาลในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ก่อนจะมีการกำหนดท่าทีที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหวต่อไป
ยุทธนัย อังกิตานนท์ บรรณาธิการ นสพ.เสียงประชา ข่าว
เรวัติ น้อยวิจิตร hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com 08-1910-7445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น