วันนี้ นสพ.พลังชน จะพาท่านไปร่วมย้อนตำนานวันสารทเดือนสิบ ของชาวไทยพวน บ้านมะขามล้ม ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี โดยมี นายวีระ หวลบุดตา นายกองค์การบริการส่วนตำบลมะขามล้ม นายมานิตย์ มีศรี ปลัดอาวุโส อำเภอบางปลาม้า พ.ต.สมพงษ์ ปั้นพงษ์ สัสดีอำเภอบางปลาม้า และ ผม เรวัติ น้อยวิจิตร จาก นสพ.พลังชน ร่วมตามไปดู
วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นเทศกาลสารทไทย โดยวันนี้ ผมได้รับการนัดหมาย จาก นายก อบต.มะขามล้ม วีระ หวลบุดตา ชักชวนให้ตามไปดูเทศกาลสารทไทย ของชาวไทยพวน ที่วัดสุขเกษม ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ผมถามนายกวีระ ว่า มีอะไรเป็นไฮไลท์สำคัญของงานวันสารทไทย ของชาวไทยพวนบ้าง นายกวีระบอก วันนี้จะมีการถวายกระจาด วันสารทไทย แก่พระภิกษุสงฆ์กว่า 150 วัด ซึ่งถูกนิมนต์มารับกระจาด ในเทศกาลวันสารทไทย ที่วัดแห่งนี้ นอกจากนั้นกระจาดที่นำมา ก็จะถูกประดับตกแต่งให้สวยงาม และทาง อบต.มะขามล้ม ก็ได้จัดรางวัลสำหรับการประกวดขึ้นมา มีรางวัลที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 พร้อมรางวัลชมเชย เพื่อเป็นสีสัน และ เป็นกำลังใจแก่ผู้มาร่วมบุญ ในการทำกระจาดมาถวายพระ สำหรับรางวัล ในปีนี้ ที่ 1 ก็จะเป็นชุดสำรับคาวหวาน ที่ 2 และ 3 ก็จะเป็นชุดขันข้าว รางวัลชมเชย ปีนี้ก็จะเป็นกระกร้าใส่ของไปทำบุญ ซึ่งเป็นสินค้าจากชุมชน
โดยในช่วงเช้า วันการทำบุญตักบาตร วันสารทไทย ปกติ มีปลัดมานิตย์ มีศรี ปลัดอำเภออาวุโส อ.บางปลาม้า เป็นประธาน ในการทำบุญ มีชาวบ้านนำสำรับกับข้าวมาทำบุญกัน หลังเสร็จพิธี ก็เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันที่วัด ซึ่งผมก็ได้อานิสงค์ อาศัยกินข้าวก้นบาตร ไปกับเขาด้วย เพราะเมื่อเช้าต้องออกแต่เช้า เลยยังไม่ได้กินข้าว
เวลา ประมาณ 08.00 น. หลังอาหารเช้า ก็เริ่มมีชาวบ้านนำกระจาด ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ทะยอยมาที่วัด ต้องช่วยกันยกหลายคน เพราะหนักมาก ผมเดินสำรวจดู พบว่ามีประมาณ กว่า 160 กระจาด บางกระจาดก็ตกแต่งแบบพื้นบ้าน ธรรมดา แต่บางกระจาดก็ประดับประดามาเพื่อการประกวดโดยเฉพาะ ซึ่งในวันนี้ มีผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดสุขเกษม ปรีชา ศิริสมบูรณ์เวช นำทีมคณาจารย์ มาร่วมเป็นคณะกรรมการ ในการประกวดด้วย ซึ่งคณะกรรมการ ก็ต้องเดินสำรวจทุกกระจาด ว่ามีกระจาดไหนสมควร ได้รับรางวัลบ้าง ก็จะให้คณะกรรมการ ยกขึ้นไปตั้งแยกไว้ต่างหาก ก่อนการตัดสิน สำหรับกระจาดที่ไม่เข้าตากรรมการ ก็จะถูกแยกไว้อีกส่วนหนึ่ง
ในวันนี้ ชาวบ้านก็ได้เตรียมสำรับ เครื่องคาวหวาน ไว้ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วย ซึ่งดูจากจำนวนกระจาด กว่า 160 กระจาด ก็จะต้องมีพระภิกษุ มารับมากพอควร ท่านนายกวีระ บอกว่า .. ถ้าวัดใด ไม่สามารถมารับกระจาดได้ ทางเราก็จะนำไปถวายให้ถึงที่วัดเลย ก็เป็นอีกประเพณีหนึ่ง ของชาวไทยพวน ในเทศกาลสารทไทย ที่สร้างสรรค์ ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อดำรง และอนุรักษ์ วัฒนธรรม พื้นบ้าน ให้คงอยู่กับหมู่บ้านของตนสืบไป
เรวัติ น้อยวิจิตร นสพ.พลังชน rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น