วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

 


         มีมหาวิทยาลัยนเรศวรในวันนี้ด้วยพระบารมีแห่งองค์ภูมิพล   พระราชทานนามมหาวิทยาลัยนเรศวร

“...ตอนที่จะขอนามมหาวิทยาลัย มีการเสนอชื่อพระบรมไตรโลกนารถ และนเรศวรอีกนามหนึ่ง นามที่ ๓ คือ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ในที่สุดเบื้องบนก็เลือกนามนเรศวร จริง ๆ ถ้าจะให้เต็มยศต้องใช้ว่านเรศวรมหาราชด้วย...”
            คำกล่าวของ รองศาสตราจารย์สมคิด  ศรีสิงห์อาจารย์ยุคบุกเบิกเริ่มสอนวิชาประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ในการเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า ๔๔ ปี : ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร” เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร


            ด้วยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นลำดับที่ ๗ ในจำนวน ๑๐ มหาวิทยาลัย...ย้อนไปเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๗ รัฐบาลมีมติรับหลักการที่จะยกฐานะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพิษณุโลก ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่นี้ว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๒เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่แผ่นดินไทยอีกทั้งยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีประสูติกาลและจำเริญวัยที่เมืองพิษณุโลก โดยกำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓ เป็นวันกำเนิดมหาวิทยาลัย เนื่องด้วยเป็นวาระสำคัญ ครบรอบ ๔๐๐ ปีแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช...จนถึงวันนี้เป็นเวลา ๒๗ ปีแล้วกับนามมหาวิทยาลัยนเรศวร


พระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง
            พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระดำเนินปริญญาบัตรตั้งแต่ครั้งยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา ก่อนพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลกและยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวรในภายหลัง ดังคำกล่าวของรองศาสตราจารย์วนิดา บำรุงไทยศิษย์เก่ารุ่นที่ ๒ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการเสวนาเหลียวหลัง แลหน้า ๔๔ ปี : ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร
“...แม้ว่าเราจะเป็นวศ.เล็ก ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระเจ้าลูกเธอเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร ตอนนั้นหอประชุมของเราเป็นแบบเปิดโล่ง อันที่จริงเป็นโรงอาหาร จะมีเฉพาะที่ประทับของพระองค์ท่านเท่านั้นจะได้รับความอนุเคราะห์จากห้างร้านนำแอร์มาตั้งให้ส่วนพระองค์ ซึ่งไม่ได้สะดวกสบายอะไร ด้วยความเมตตาพสกนิกรยิ่งใหญ่มาก ท่านไม่ได้มาพระองค์เดียวหรือสองพระองค์  พระเจ้าลูกเธอถ้าว่างจะตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ตามมา เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยของเราได้รับเกียรติที่ยิ่งใหญ่ตลอด เราจะต้องสำนึกรักในเกียรติอันยิ่งใหญ่ของเรา...”
            ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแทนพระองค์


พิพิธภัณฑ์ผ้า จากโครงการศิลปาชีพ หนึ่งในพระราชดำริ
            พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรคือหนึ่งแหล่งเรียนรู้สำคัญด้านภูมิปัญญาผ้าทอซึ่งได้รับการสนับสนุนจากร้านจิตรลดา หนึ่งในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
แต่แท้จริงแล้วจะมีสักกี่คนที่ทราบว่าโครงการส่งเสริมศิลปาชีพหรือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพนี้กำเนิดขึ้นจากกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔
“…..ทุกครั้งที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัติ…ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเห็นเครื่องอุปโภคบริโภคแล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ ไม่พอเพียง ทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทำให้เขามีหวังที่อยู่ดีกินดีขึ้นด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติบ้านเมืองทรงพระราชดำเนินไปดูตามไร่ของเขาทรงคิดว่านี่เป็นกำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ…..”
พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒
           

ผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลือง
          พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีห้องจัดแสดงสำคัญคือ ห้องพิพิธภัณฑ์ผ้าจิตรลดา ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงชุดฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดอกไม้พระนามควีนสิริกิติ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย ผ้าไหม ของร้านจิตรลดาแล้ว ยังมีมุมจัดแสดงที่ได้รับความสนใจจากผู้มาเยี่ยมเยือนไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลือง
          ผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลืองนี้จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ ๖๐ พรรษา และ ๗๒ พรรษาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สืบเนื่องจากปีพระราชสมภพของพระองค์คือปีเถาะ และสีประจำพระชนมวารวันคือ สีเหลือง ร้านจิตรลดาจึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน เช่น ร่มและผ้าพิมพ์ลายกระต่าย ๙ อิริยาบถ, ตุ๊กตากระต่าย, เสื้อยืด, เสื้อแจ็กเก็ต, กระเป๋า, ซองแว่นตา, หมวก, เนคไท, ปกสมุด, ปกอัลบั้ม เป็นต้น
          ผลิตภัณฑ์ลายกระต่ายหรือตราสัญลักษณ์สีเหลืองเหล่านี้จัดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แม้จะเป็นเพียงมุมเล็ก ๆ แต่เชื่อว่ายิ่งใหญ่ในความรู้สึกของผู้ที่ได้มาชื่นชมทุกคน

            เหล่านี้คือความภาคภูมิใจ ความปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชล้นเกล้าล้นกระหม่อมชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร และชาวจังหวัดพิษณุโลก ยังคงเป็นตำนานเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่มีวันจบ



 พรปวีณ์  ทองด้วง  นักประชาสัมพันธ์ 
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน  มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น