วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมเยี่ยมบ้านยามเย็น อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี

ผม และ คณะทีมงานสื่อมวลชน จังหวัดสุพรรณบุรี ลงพื้นที่ภาคสนาม อ.ด่านช้าง เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2555 ในงาน เตรียมจัดการแข่งขันไทยแลนด์พารามอเตอร์ ชมฟรีคอนเสิร์ต ตอนเย็นได้มีโอกาส ทานข้าวกับ ป.ต้น ปลัดอำเภอ ที่ อ.ด่านช้าง ป.ต้น ได้เล่าให้ฟังถึง กิจกรรม เยี่ยมบ้านยามเย็น ของท่านนายอำเภอ ไพทูรย์ รักษ์ประเทศ ซึ่งจัดทำโครงการนี้ เพื่อจะเยี่ยมบ้านของชาวบ้าน ให้ครบทุกหมู่บ้าน ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และ น่าสนใจ จึงได้ขออนุญาตท่านนายอำเภอ ไพทูรย์ รักษ์ประเทศ นำกิจกรรมดังกล่าว มาเผยแพร่ สู่สาธารณะ .. ขอบคุณ ป.ต้น ผู้ประสานงาน กิจกรรมเยี่ยมบ้านยามเย็น อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ นายอำเภอด่านช้าง 1.บทนำ อำเภอด่านช้างเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อ ปี พ.ศ. 2517 โดย แบ่งการปกครองออกเป็น 7 ตำบล 93 หมู่บ้าน 1 เทศบาลตำบล และ 7 อบต. มีประชากร 65,440 คน 21,8858 ครัวเรือน มีพื้นที่การปกครอง 1,193 ตารางกิโลเมตร กว้าง 745,625 ไร่ เป็นอันดับหนึ่งของสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี 77 กิโลเมตร โดยมี 9 หมู่บ้าน ในเขตปกครองที่อยู่ไกลจากตัวอำเภอมากที่สุด ได้แก่หมู่บ้านตะเพินคี่ หมู่ที่ 5 ตำบลวังยาว อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอด่านช้างเป็นระยะทาง 77 กิโลเมตร เช่นเดียวกัน ภูมิประเทศทางด้านตะวันตกเป็นภูเขาสลับซับซ้อนในเทือกเขาตะนาวศรี และลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันตก และมีเขื่อนกระเสียวเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อยู่ตอนกลางของพื้นที่อำเภอโดยพื้นที่อำเภอด่านช้างเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าองค์พระ ป่าห้วยขมิ้น และอุทยานแห่งชาติพุเตย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำไร่อ้อย เป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นพื้นที่ 195,180 ไร่ ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 65,193 บาท/ปี มีหมู่บ้านและมีครัวเรือนที่ยังตกเกณฑ์ จปฐ. จำนวน 932 ครัวเรือน ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาเด็กจบการศึกษาบังคับ 9 ปีที่ไม่ได้เรียนต่อและยังไม่มีงานทำ ปัญหาการเก็บเงินออมของครัวเรือน และปัญหาเด็กแรกเกิดไม่ได้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรกติดต่อกัน เป็นต้น สภาพทางสังคมยังเป็นสังคมชนบท ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ไม่มีปัญหาความสงบเรียบร้อย 2.หลักการทำงานของนายอำเภอ เมื่อนายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ นายอำเภอด่านช้าง เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้นำหลักการทำงานสำคัญคือ “ถูกต้อง ถูกใจ และถูกคอกัน”มาใช้ในพื้นที่อำเภอด่านช้าง ให้ส่วนราชการทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติ กล่าวคือ 2.1 ถูกต้อง คือการยึดระเบียบกฎหมาย เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับรู้วีปฏิบัติราชการ อาทิ การเตรียมเอกสาร การเสนอเรื่องราวความเดือดร้อนให้ทางราชการช่วยแก้ไข การมาติดต่อราชการจึงมักจะไม่ค่อยราบรื่น และยิ่งอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลประชาชนก็มักจะละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องยื่นคำขอตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้เสียสิทธิและโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากทางราชการไปโดยปริยาย ดังนั้นหากได้มีการสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจ ชี้ช่องเปิดทางสว่างให้ประชาชนกลับมาติดต่อราชการให้ถูกต้องก็จะทำให้เกิดผลดีกับประชาชนเอง ไม่เสียสิทธิไม่เสียโอกาสที่จะได้รับ 2.2 ถูกใจ คือการทำงานโดยยึดถือเอาปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเมื่อเลือกตั้งได้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต./เทศบาล หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไปแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็จะไปทำหน้าที่แทนตน ทั้งในการแก้ปัญหา เสนอของบประมาณ และอื่นๆ เมื่อทางราชการเรียกประชุมหรือจัดทำประชาคม รับฟังความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ จึงมักไม่ค่อยสนใจให้ความสำคัญ ปล่อยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ดำเนินการตัดสินใจไปโดยไม่มีความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณา บางครั้งก็เป็นความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่โดยลำพัง ปัญหาสำคัญหลายเรื่องจึงไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นหากได้มีการกระตุ้นเตือนทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รู้จักบทบาทและหน้าที่ในการเข้ากลุ่มประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในการจัดทำแผนชุมชน เพื่อจะได้นำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไข ก็จักทำให้ปัญหาของหมู่บ้านและชุมชนได้รับการแก้ไขที่ตรงจุด สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและความต้องการของประชาชนที่แท้จริง 2.3 ถูกคอ มีความรักและสามัคคีกัน การทำงานในหมู่บ้าน ตำบล มีการปกครอง 2 รูปแบบ ที่ซับซ้อนพื้นที่กันอยู่ ได้แก่ การปกครองท้องที่โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และการปกครองท้องถิ่น โดย อบต. ถ้าพิจารณาถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ถือว่ามีการแบ่งอำนาจหน้าที่กันอย่างชัดเจนโดย กำนันผู้ใหญ่บ้าน จะทำหน้าที่ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน ในขณะที่ อบต. จะทำหน้าที่ด้านการพัฒนา แต่เมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่แล้ว ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ต้องทำงานควบคู่กัน โดยมีเส้นแบ่งอำนาจหน้าที่แต่เพียงบางๆ ดังนั้นหากหมู่บ้านใดมีความแตกแยกกัน หมู่บ้านนั้นก็จะเสียโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา หมู่บ้านชุมชนจะอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญได้ ประชาชนก็จะต่างคนต่างอยู่ไม่ร่วมมือกันบริหารจัดการหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้าน/ชุมชนตกอยู่ในสภาพล้าหลัง ดังนั้นหากได้มีการทำความเข้าใจ ปรับท่าทีของทุกฝ่ายในหมู่บ้านให้หันหน้าเข้าหากัน หมู่บ้านก็จะได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง หมู่บ้านใดที่อยู่ในระดับดีก็จะมีความเจริญก้าวหน้าเพิ่มขึ้นไปอีก 3. แนวทางจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้านยามเย็น จากหลักการสำคัญดังกล่าว นายอำเภอด่านช้างจึงได้จัดทำกิจกรรมเยี่ยมบ้านยามเย็น โดยกำหนดกรอบของกิจกรรมดังนี้ (1) กำหนดกิจกรรมเยี่ยมบ้านยามเย็นเดือนละ 8 วัน โดยแบ่งออกเป็นตำบลละ 1 วัน และในเขตเทศบาลอีก 1 วัน ส่วนการกำหนดหมู่บ้านเป้าหมายให้เป็นไปตามความต้องการของผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ โดยหมู่บ้านใกล้เคียงกันอาจรวมกันได้ (2) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมระดับหมู่บ้าน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. คณะกรรมการหมู่บ้าน และประชาชนทั่วไป (3)เลือกใช้เวลาที่ประชาชนเลิกงานมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะกับนายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการ (4)ให้พาไปดูภูมิประเทศจริงให้รู้ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร ณ สถานที่ใด เพื่อประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง 4. ผลการดำเนินงานที่สำคัญ กิจกรรมเยี่ยมบ้านยามเย็นเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้นำท้อถิ่นและท้องที่มีทางเลือกที่หลากหลายตามความต้องการที่อยากนำเสนอ โดยอำเภอไม่ได้กำหนดกรอบ บางหมู่บ้านเน้นไปในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย บางหมู่บ้านเน้นไปในด้านการพัฒนา บางหมู่บ้านเน้นไปในด้านการส่งเสริมอาชีพ บางหมู่บ้านเน้นไปในด้านการบริหารการปกครอง การนำเสนอข้อมูลสามารถดำเนินการได้ทั้งทางบวกและทางลบ หมู่บ้านอาจนำเสนอวิธีการทำงานที่ประสบความสำเร็จหรือนำเสนอข้อมูลที่หมู่บ้านไม่สามารถแก้ไขได้ให้พิจารณาช่วยหาทางออกได้ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ (1) การแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการตั้งจุดตรวจเวรยามประจำหมู่บ้านโดยประชาชนร่วมมือกัน การชี้ช่องเบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมยาเสพติดและผู้ค้าที่บ้านกิโลแปด (2) การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มีการนำแนวเขตแดนที่มีข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนมานำเสนอให้พิจารณาแก้ไขที่บ้านวังคัน (3)การแก้ไขปัญหาผู้ที่ประสบอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก มีการตรวจพื้นที่ที่ประสบภัยจริงเพื่อเร้งรัดช่วยเหลือที่บ้านละว้ากกเชียง รวมทั้งการเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่ประสบภัยที่บ้านโป่งข่อยสมอทอง (4) การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม มีการนำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืนที่บ้านหุบตาอ้น (5) การส่งเสริม OTOP ที่มีการดำเนินการอยู่ในหมู่บ้านให้สามารถพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพและด้านการตลาดที่บ้านปรักประดู่ (6) การส่งเสริมอาชีพหลังจากหมดฤดูทำการเกษตร อาทิ การตัดเย็บเสื้อผ้าที่บ้านหนองอุโลก การจักสาน การเพาะกล้าไม้เพื่อการจำหน่ายที่บ้านปรักประดู่ เป็นต้น (7) การส่งเสริมการปลูกป่า ตามแนวทางพระราชดำริที่บ้านองค์พระ การปลูกป่าโดยการยิงหนังสติ๊กที่บ้านตะเพินคี่ (8) การส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี มาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน พุน้ำร้อน การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินดำ (9) การเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชน ผู้สูงอายุ คนชราในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการพบปะถึงบ้านเรือน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายอำเภอในฐานะผู้นำภาครัฐกับประชาชนทุกหมู่บ้าน ๕.บทสรุป ผลจากการดำเนินกิจกรรมเยี่ยมบ้านยามเย็นดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีในทุกระดับ (1) ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ด้วยกันเอง ได้ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันจนประสบความสำเร็จ อาทิ การได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดขบวนแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ แต่ละภาคส่วนที่มาร้อยเรียงเรื่องราวเป็นหนึ่งเดียวกันจนเกิดผลสำเร็จ และ (2) ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน อาทิ การเปิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนพุน้ำร้อนได้เป็นผลสำเร็จ โดยภาครัฐเป็นผู้ให้กรอบแนวทาง พระผู้นำชุมชนท้องถิ่นช่วยกันคิดและลงมือทำจนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งแรกขึ้นภายหลังจาก นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ นายอำเภอด่านช้าง นำหลักการดังกล่าวมาใช้ในระยะเวลาเพียง 7 เดือน Ma'mEaw Sasi; เรวัติ น้อยวิจิตร นสพ.พลังชน rewat.noyvijit@hotmail.com 081-9107445 http://w7.thaiwebwizard.com/member/suphaninsure/wizContent.asp?wizConID=56519&txtmMenu_ID=7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น