วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“ พัฒนาผ้าทอร่วมสมัย ” สืบสานงานฝ้าย สร้าง ๕ ลวดลายต้นแบบ

โครงการ “พัฒนาผ้าทอร่วมสมัย” สืบสานงานฝ้าย สร้าง ๕ ลวดลายต้นแบบฝีมือกลุ่มทอผ้า พัฒนาสู่สิ่งทอร่วมสมัย
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการ “พัฒนาผ้าทอร่วมสมัย” ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ชีวิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มีดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมประกอบด้วยการเสวนา เรื่อง แนวโน้มแฟชั่นปี ๒๐๑๔ – ๒๐๑๕ โดยดร.ดนัย เรียบสกุล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นเป็นการฝึกออกแบบลวดลาย และฝึกปฏิบัติการทอผ้า โดยผศ.สราวุฒิ สิทธิกูล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติและการทอผ้า มีสมาชิกกลุ่ม ทอผ้าในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำนวน ๕ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย, กลุ่มแม่บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก, กลุ่มทอผ้าบ้านซำรัง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก, กลุ่มทอผ้าบ้านคุ้ม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และกลุ่มบ้านลานกระดี่ ตำบลหนองทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
การปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่การสอดเส้นฝ้ายเข้าฟันหวี เก็บตะกอทั้ง ๔ ตะกอตามลวดลายที่กำหนด ทั้งนี้บรรดาสมาชิกกลุ่มทอผ้าต้องใช้สมาธิสูงในการนับลาย ด้วยเป็นการเรียนรู้เทคนิคใหม่ จนก่อเกิดเป็นลวดลายร่วมสมัยกลุ่มละ ๑ ลวดลาย ปิดท้ายด้วยการพร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
สำหรับผ้าทอมิติใหม่จำนวน ๕ ลวดลาย ฝีมือของสมาชิกกลุ่มทอผ้าทั้ง ๕ กลุ่ม สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินเตรียมนำจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมต่อยอดฝึกอบรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยต่อไป
พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ชั้น 3 อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. 0 5596 1143

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น