วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ย่ำถิ่นไทอาหมและไทผาเก ชนกลุ่มน้อยในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย

ย่ำถิ่นไทอาหมและไทผาเก ชนกลุ่มน้อยในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูอัตลักษณ์ของต้นตระกูลไท หากกล่าวถึงชนชาติไทกลุ่ม “ไทอาหม” และ “ไทผาเก” คนไทยอาจไม่คุ้นเคยนัก ด้วยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย แต่ที่น่าสนใจคือ สองกลุ่มชนนี้ยังดำรงความเป็นตัวตน ด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งต้นตระกูลไท ที่สำคัญมีหลายวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับคนไทย ร้อยเรื่องราวของชาวไทอาหม ปฏิบัติการเจาะลึกไทอาหมและไทผาเกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม – ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถานฯ เดินทางลัดฟ้าไปยังรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย เพื่อต่อยอดโครงการศึกษา “การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์” ที่ได้รับทุนจากโครงการความร่วมมือระหว่างสภาวิจัยทางสังคมศาสตร์ของประเทศอินเดีย (ICSSR) กับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓
“ชาวไทอาหมเล่าว่า เดิมเป็นคนไทที่อพยพมาจากอาณาจักรเมาหลวงทางตอนใต้ของจีน ข้ามเทือกเขาปาดไก่ มาอยู่บริเวณแม่น้ำดาวผี ซึ่งปัจจุบันก็คือแม่น้ำพรหมบุตรของอินเดียนั่นเอง มีการสร้างเมืองขึ้น มีกษัตริย์พระองค์แรกคือพระเจ้าเสือก่าฟ้า ซึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์ไทอาหมกล่าวว่า พระเจ้าเสือกาฟ้ามีชีวิตอยู่ในช่วง ๗๐๐ ปีก่อน ซึ่งตรงกับช่วงสมัยพ่อขุนรามคำแหง ยุคสุโขทัยของเรา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข เล่าท้าวความประวัติศาสตร์ชาวไทอาหม “ชาวไทอาหมมีกษัตริย์ปกครองมาโดยตลอด ผ่านการสู้รบกับชาวอินเดีย อาณาจักรโมกุนและพม่า จนกระทั่งช่วงอาณานิคมเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อน รัฐอัสสัมรบแพ้อังกฤษ ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อังกฤษผนวกรัฐอัสสัมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียจนถึงปัจจุบัน ชาวไทหมเปลี่ยนจากการนับถือผีมาเป็นศาสนาฮินดู และจุดนี้เองที่ทำให้วัฒนธรรมของฮินดูเริ่มเข้ามาสลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทอาหม” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดียโดยสมบูรณ์ กลายเป็นหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ของอินเดีย ด้วยระบบอินเดียไนเซชั่น (ความพยายามกลายให้เป็นชาวอินเดียในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม) แต่ชาวไทอาหมกลับไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นคนอินเดีย ทั้งนี้ถึงแม้รูปร่างหน้าตาส่วนหนึ่งออกไปทางอินเดียแล้ว แต่ยังมีลักษณะจำเพาะบางอย่างที่ไม่ใช่อินเดียทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดถือวัฒนธรรมประเพณีบางประการ ซึ่งแม้ชาวไทอาหมจะนับถือศาสนาฮินดูแบบอินเดียแต่ก็ยังมีประเพณีบางอย่างที่เราอาจคุ้นหู เช่น พิธีฮิกคอน หรือเรียกขวัญ พิธีแม่ด้ำแม่ผี หรือพิธีบูชาบรรพบุรุษ (โปรดสังเกตคำว่า แม่ ด้ำ และผี ที่ชาวไทอาหมใช้) เป็นต้น ด้วยความรู้สึกชาตินิยมนี่เอง จึงทำให้เกิดกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่า “การรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทอาหม” วิธีการคือ มีการจัดตั้งบันออก พับลิก เมืองไต หรือสมาคมวรรณกรรมไทตะวันออก ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรม เป็นกลุ่มที่มีพลังในการขับเคลื่อนวัฒนธรรม พยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมของไทอาหม เช่น วรรณกรรม, พิธีกรรม, ภาษาไท เป็นต้น
“ไทอาหมมีการรื้อฟื้นภาษาไท ซึ่งปัจจุบันเป็นภาษาที่ตายแล้ว ไม่มีการใช้ในชีวิตประจำวันทั้งพูด อ่าน เขียน เนื่องจากใช้ภาษาอัสสัมมีสเป็นภาษาของรัฐอัสสัมไปแล้ว กระบวนการรื้อฟื้นภาษาไทมีความน่าสนใจคือ การโหยหาภาษาของเขาเกิดการเชื่อมต่อกับประเทศไทย นั่นคือ การขอให้คนไทยไปสอนภาษาไทยให้” “กระบวนการนี้ทำให้นึกถึงภาษาล้านนาที่เชียงใหม่ ซึ่งพยายามมีการใช้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครใช้แล้ว แต่มีความต่างกันตรงที่ ภาษาล้านนาถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของท้องถิ่น บังคับให้คนในท้องถิ่นต้องเรียนภาษาท้องถิ่น ดังนั้นการสืบทอดภาษาล้านนาของเชียงใหม่จึงดูเป็นปกติสามัญมากกว่าไทอาหมที่หากต้องการเรียนภาษาไทอาหมก็ต้องไปเรียนพิเศษต่างหาก” นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข ยังให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ไทอาหมกับประเทศไทยจะเป็นต้นตระกูลเดียวกัน ภาษาพูดจะคล้ายกัน แต่ภาษาไทยมีการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ด้วยการผสมภาษาอื่น เช่น จีน สันสกฤต เขมร เป็นต้น จึงน่าเป็นห่วงว่า กระบวนการรื้อฟื้นภาษาไทอาหมด้วยการให้คนไทยสอนภาษาไทย เป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ แต่เหล่านี้คือการสะท้อนให้เห็นถึงความรักในชนชาติของตน อย่างไรก็ตาม ไทอาหมยังคงมีร่องรอยของภาษาไทและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับคนไทยปรากฏอยู่ เช่น ลุกลาว (LUK LAO) คือเหล้าที่หมักจากข้าวเหนียว ซึ่งก็คือเหล้าอุหรือสาโทในบ้านเรานั่นเอง คำ เหล่านี้ล้วนมีรากเหง้าดั้งเดิมมาจากภาษาตระกูลไท แม้จะอยู่ห่างไกล แต่สามารถปะติดปะต่อกันได้ นอกจากนี้ไทอาหมยังมีงานปอยแม่ด้ำแม่ผี ซึ่งเป็นงานบุญไหว้บรรพบุรุษ ทำให้นึกถึงงานบุญในเมืองไทยแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอนคือ ปอยส่างลอง และยังเทียบเคียงได้กับคำว่า ผีซ้ำด้ำพลอยในบ้านเรา ดังนั้น แม่ด้ำแม่ผีจึงสะท้อนภาษากลุ่มตระกูลไทได้อย่างชัดเจน “ชาวไทอาหมยังลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกับคนไทยคือ การต้อนรับขับสู้ คือเขาจะพาเราลงชุมชนแวะทุกบ้านที่เป็นญาติกับเขา และทุกบ้านก็จะคอยต้อนรับด้วยด้วยอัธยาศัยไมตรี เหมือนกับคนไทย เวลาที่เราจากบ้านไปนาน ๆ เมื่อกลับบ้านก็จะต้องไปเยี่ยมญาติในแต่ละบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้วัฒนธรรมอินเดียไม่มี” หลากวิถี วัฒนธรรมของชาวไทผาเก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข ยังได้มีโอกาสรู้จักคนไทอีกกลุ่มหนึ่ง ณ หมู่บ้านนำผาเก เขตนาหาคาเทีย เมืองดิบุดะรห์ รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ซึ่งชาวไทผาเกอพยพมาภายหลังชาวไทอาหม คือ เมื่อประมาณ ๖๐๐ – ๖๐๐ ปีก่อน จากตอนบนของประเทศพม่า โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข เล่าว่า “ชาวไทผาเกมีความคล้ายคลึงกับคนไทยมาก ตั้งแต่ภาษาที่ใช้ยังคงเป็นภาษาตระกูลไท ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาไทยล้านนาหรือไทใหญ่ บางคำเขาพูดมาแล้วเราสามารถเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องแปล เช่นคำว่ามีด ไทผาเกเรียกว่าพร้า ย่ามเรียกถุง คำอวยพรว่าอยู่ดีมีแฮง รวมไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ชาวไทผาเกปลูกข้าวเจ้า กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก และการแต่งกายที่ยังคงความเป็นไท คือ ผู้ชายนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งซิ่น มีผ้าคล้องคอ ผ้าคาดเอว บ้านเรือนเป็นแบบยกสูง ไม้ไผ่ขัดแตะ เป็นเรือนเครื่องผูก ไม่ใช้ตะปู มุงด้วยหญ้า ใบไม้ มียุ้งข้าวอยู่หน้าบ้าน นับเป็นการสะท้อนลักษณะจำเพาะของคนไทได้เป็นอย่างดี ” “ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เคยกล่าวถึงชุมชนไทในอินเดียว่ามีลักษณะเหมือนสังคมยูโทเปียนั้น จะมีอยู่จริง เพราะชาวไทผาเกมีชีวิตแบบเรียบง่าย พออยู่พอกิน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่แก่งแย่งชิงดี เป็นสังคมแบบโบราณจริง ๆ ” “ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อบางอย่าง เช่น คนไทยเวลาก้างปลาติดคอ จะนำแมวมาเกาเบา ๆ บริเวณคอ ก้างก็จะหลุดออกมา ไทผาเกก็มีเหมือนกัน แต่เป็นกระดูกสัตว์บางประเภทที่กินปลา”
วัฒนธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ขาวไทผาเกนับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำชุมชน ซึ่งในเรื่องนี้ขอยกข้อความจากคอลัมน์คนไทยอยู่ที่ไหนกันบ้างในโลกนี้ เขียนโดยมาโนช พุฒตาล จากหนังสือคู่สร้างคู่สม ปี ๓๕ ฉบับ ๘๓๗ วันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ วัดพุทธหมู่บ้านไทผาเกเป็นวัดพุทธเถรวาท (แบบเดียวกับในบ้านเรา) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ และได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๙ ปัจจุบันเป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในรัฐอัสสัม บริเวณวัดประกอบด้วยพระเจดีย์ ๒ เจดีย์ มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้นำหน่อจากพุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาปลูกไว้ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๕ มีพระอุโบสถและพระพุทธรูปปางนาคปรก วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทผาเก จะมีการจัดงานในวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ตลอดจนประเพณีสำคัญต่าง ๆ ของชาวไทย อาทิ วันสงกรานต์ เป็นต้น ชาวไทผาเกมีความรักประเทศไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ไทยอย่างมาก โดยเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จฯ เยือนหมู่บ้านไทผาเกอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ผู้แทนชาวไทผาเกได้เข้าร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และงานสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ที่จัดโดยสถานเอกอัครราชฑูตอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุด เมื่อวันที่ ๔ – ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ รองปลัดกระทรวงต่างประเทศ และนายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล ได้เชิญพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพุทธหมู่บ้านนำผาเกแห่งนี้ ตอนท้ายของคอลัมน์ มาโนช พุฒตาลได้ถ่ายทอดคำพูดของผู้ใหญ่บ้านนามว่า ไอเส็ง เวียงแก่น ได้อย่างน่าคิด “ผมอิจฉาคนไทยและคนลาวที่พวกประชาชาติของท่านสามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น เป็นประเทศเอกราช แสดงความเป็นไทของตนเองอย่างสง่างาม น่าภูมิใจในฐานะประเทศไทยและประเทศลาว แต่พวกเราเป็นคนไท เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศอื่น” จากคำกล่าวสะท้อนอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจนี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว หากมองในทางกลับกัน ความเป็นคนชนกลุ่มน้อยในประเทศอื่นกลับทำให้ชาวไทผาเกยังคงความรู้สึกเป็นชาติพันธุ์ไท มีความเป็นปึกแผ่น ดำรงความเป็นตัวตนได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่คนไทยมีอาณาเขตเป็นของตนเอง มีตัวตนอย่างชัดเจน ลองมองย้อนดูว่า เรามีความตระหนัก ภาคภูมิใจ และหวงแหนในความเป็นชาติไทยมากน้อยเพียงใด พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น