วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

มหาวิทยาลัยนเรศวร สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาผ้าทอมิติใหม่

สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาผ้าทอมิติใหม่ เชื่อมโยงความงามแห่งหัตถศิลป์สู่สิ่งทอร่วมสมัย ด้วยสองมือ...เก็บเกี่ยวปุยฝ้ายผ่านกระบวนการหลากหลายจนกลายเป็นเส้นด้าย ด้วยหัวใจ...บรรจงร้อยเรียงเส้นด้ายถักทอลวดลายสีสันตระการตาออกมาเป็นผืนผ้า นั่นคือวิถีชีวิตเนิ่นนานมาหลังจากเสร็จสิ้นฤดูทำนาของหญิงไทยตั้งแต่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น... ปัจจุบัน แม้การทอผ้าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเช่นหญิงไทยในอดีต แต่เหล่านี้คือภูมิปัญญาที่คนรุ่นหลังควรพึงระลึก สำนึกในคุณค่า จึงนำมาสู่การรณรงค์ ส่งเสริมให้มีการทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม และสนับสนุนให้มีการสวมใส่ ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของการอนุรักษ์และพัฒนา ด้วยหนึ่งพันธกิจของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการพัฒนาและสร้างเครือข่าย (Network) ด้านศิลปวัฒนธรรมผ่านกระบวนการแบ่งปัน จึงก่อเกิดโครงการพัฒนาผ้าทอร่วมสมัยขึ้น เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ชีวิต
มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเชิญกลุ่มทอผ้าในเขตภาคเหนือตอนล่างจำนวน ๕ กลุ่มมาเข้ารับการอบรมฝึกออกแบบลวดลายและทอผ้าแนวใหม่ ประกอบด้วยกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย, กลุ่มแม่บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก, กลุ่มทอผ้าฝ้ายแกมไหมซำรัง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก, กลุ่มทอผ้าบ้านคุ้ม ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และกลุ่มทอผ้าบ้านลานกระดี่ ตำบลหนองทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร “การอบรมครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดรูปลักษณ์ของลวดลายที่ทันสมัย โดยมีพื้นฐานจากลวดลายโบราณนำไปสู่ผ้าลวดลายใหม่ สามารถตอบสนองกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ตลอดจนเกิดการพัฒนาต่อในเชิงอุตสาหกรรมและการวิจัยเชิงพาณิชย์ต่อไป”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวถึงเป้าหมายของโครงการ
วิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์สราวุฒิ สิทธิกูล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติและการทอผ้า เล่าถึงกระบวนการอบรมว่า “เป็นการออกแบบลวดลายและทอผ้าเทคนิค ๔ ตะกอ แต่ละกลุ่มจะได้ฝึกปฏิบัติแบบครบวงจร ตั้งแต่การนำเส้นยืนมาร้อยใส่ฟันหวี เก็บลาย เก็บตะกอ รู้จักเทคนิคการเก็บตะกอให้ถูกต้อง การผูกโยงตะกออย่างไรให้เหยียบหรือทอได้หลายประเภท รวมไปถึงการวางจังหวะของลาย” “เมื่อรู้หลักการและกระบวนการแล้วจะนำไปประยุกต์พลิกแพลงได้มากขึ้น เช่น การปรับเส้นใยให้ใหญ่ ขึ้นเพื่อทำผ้าคลุมเตียง ผ้าปูโต๊ะ ทำฟันหวีให้ห่างขึ้นเพื่อทอผ้าในลักษณะคลาสสิกเหมือนผ้าขนสัตว์ในต่างประเทศ หรือนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อื่นก็ทำได้”
กลุ่มทอผ้าแต่ละกลุ่มต่างขะมักเขม้น สองมือสาละวนกับการร้อยเรียงเส้นด้าย เส้นต่อเส้น ลายต่อลาย ใช้ความคิด สายตาเพ่งพิศจับจ้อง ในขณะที่เท้าก็ต้องเหยียบตะกอตามจังหวะ เสียงฟันหวีกระทบกี่ เสียงเพื่อนในกลุ่มช่วยนับลาย บ้างปรึกษา ถกเถียง ให้ความเห็น...นี่คือกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นเอกโดยแท้ “ปกติทอผ้าจก ผ้าชิ้น มาอบรมวันนี้ถูกใจลวดลายใหม่มาก สวย แปลกตา กลับไปจะนำไปทำเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ และแปรรูปเป็นกระเป๋าซึ่งเราทำอยู่แล้ว แต่เดิมจะใช้ผ้าตีนจกที่อาจจะดูสูงวัย แต่สำหรับลวดลายใหม่นี้มีความร่วมสมัย วัยรุ่นใช้ได้ นับเป็นการเปิดตลาดให้กว้างขึ้น” นางสาวรวีวรรณ ขนาดนิด จากกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย
“ปกติทอผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น ภูมิใจมากที่ได้ลวดลายใหม่ จะนำไปปรับปรุงทอในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดให้วัยรุ่น เนื่องจากปกติจะมีนักเรียนชั้นม.๒ - ม.๓ มาเรียนทอผ้าแล้วนำไปส่งครู ให้คนรุ่นใหม่ทอลวดลายใหม่จะได้มีความคิดในการพัฒนาให้คนในวัยเดียวกันใช้ได้” นางอำนวย เลาะไธสง ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านลานกระดี่ จังหวัดกำแพงเพชร ความสุข ความภาคภูมิใจ ความตั้งใจในวันนี้ คือยาหอมชั้นดีที่ช่วยต่อลมหายใจให้ผ้าทอไทยคงอยู่คู่คนไทยสืบไป พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น