วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

พระผู้สืบสานงานศิลป์...อุปถัมภกมรดกไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็น “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ดังข้อความบางส่วนจากหนังสือพระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ โดยวิลาศ มณีวัต ที่ขอหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ เพลงพระราชนิพนธ์ “ส้มตำ” ความเป็นอัจฉริยะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ฉายแววออกมาเป็นครั้งแรกในระหว่างที่ยังทรงศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมต้นโรงเรียนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ขณะกำลังเตรียมรายการเพลง ทูลกระหม่อมก็ทรงบ่นขึ้นว่า “จะร้องเพลงอะไรก็มีคนจองแล้วทั้งนั้น...ถ้าจะต้องแต่งเพลงเสียเอง”
ความข้อนี้ทราบถึงพระเนตรพระพรรณ ก็ได้มีพระราชกระแสลงมาว่า ให้ทูลกระหม่อมแต่งเพลงสำหรับร้องเองเพลงหนึ่ง ระหว่างนั้นเมื่อทรงว่างจากการท่องตำราเรียนก็โปรดการเข้าครัวทำอาหารเป็นงานอดิเรก และอาหารจานโปรดก็คือส้มตำ เพราะทำได้ง่าย ๆ เครื่องปรุงไม่มีอะไรพิสดารมากนัก แต่รสแซบดี จึงได้ทรงเกิดความคิดนำเอาตำราทำส้มตำมาเรียบเรียงให้คล้องจองกัน แทนที่จะทรงแต่งเพลงดวงจันทร์หรือวันฟ้าสวย กลับทรงคิดเอาส้มตำมาแต่งเป็นเพลง เพลงพระราชนิพนธ์ “ดุจบิดามารดร” ทรงแต่งโคลงสี่สุภาพเรื่อง อะแซหวุ่นกี้ของดูตัวพระยาจักรี โดยใช้เค้าโครงจากหนังสือไทยรบพม่า ซึ่งอาจารย์กำชัย ทองหล่อตั้งชื่อเรื่องให้ว่า กษัตริยานุสรณ์ ทรงพอพระทัยในผลงานกวีนิพนธ์เรื่องยาวเรื่องแรกนี้เป็นอันมาก จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาแทนการถวายรูปเขียนของขวัญอย่างเคย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดโคลงบทขึ้นต้นว่า “รักชาติยอมสละแม้ชีวี” มากที่สุด จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ม.ล.พวงร้อย อภัยวงศ์ ประพันธ์ทำนองเพลง ให้ชื่อเพลงนี้ว่า “ดุจบิดามารดร” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อ่านงานพระราชนิพนธ์เรื่องกษัตริยานุสรณ์ ด้วยความทึ่งในพระอัจฉริยะ เพราะตอนนั้นทรงมีพระชนมายุเพียงสิบแปดเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าต่อไปจะทรงเป็นกวีของแผ่นดิน จึงได้นำพระราชนิพนธ์เรื่องกษัตริยานุสรณ์ลงพิมพ์ทั้งเรื่องในสยามรัฐ หน้า ๕ ฉบับวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๖ ทรงร้องเพลงลูกทุ่ง “เด็กปั๊ม” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๒ ตุลาคม ถึง ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๗ ทรงได้รับความเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีมนุษยสัมพันธ์ดีเลิศ ทรงสนิทสนมกับฝ่ายเจ้าภาพได้อย่างรวดเร็ว โดยมากใช้วิธีร้องเพลงเป็นสื่อสร้างความคุ้นเคย เมื่อเสวยเสร็จแล้วมีการร้องเพลง เกือบทุกคนทั้งฝ่ายไทยและอินโดนีเซียต้องออกมาร้องเพลง ถึงคราวสมเด็จพระเทพฯ จะต้องทรงร้องบ้าง ก็ได้ทรงร้องเพลงลูกทุ่งของไทย เด็กปั๊ม เมื่อทรงจบรายการร้องเพลงโชว์แล้ว ได้รับสั่งกับคนไทยที่ตามเสด็จว่า ที่ได้ทรงเลือกร้องเพลงเด็กปั๊ม ก็เพราะรู้สึกว่าเพลงนี้เฮฮาครึกครื้น...เป็นไทย ๆ ดี ที่มาของนิยายสำหรับเด็กชุด “แก้วจอมแก่น” เนื่องจากทรงโปรดการอ่านหนังสือทุกชนิด ตั้งแต่นวนิยายจนถึงพงศาวดารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา “เรื่องแก้วจอมแก่นเขียนตอนเรียนปริญญาโทที่จุฬาฯ กำลังทำวิทยานิพนธ์ พอเบื่อ ๆ ก็เขียนสักเรื่องแก้ฟุ้งซ่าน ชอบคิดโน่นคิดนี่ ก็เลยเออ...แทนที่จะคิดเฉย ๆ เขียนเป็นเรื่องดีกว่า จะได้ทำอะไรที่สร้างสรรค์และก็ได้หัวเราะ เขียนเรื่องส่งมาที่สตรีสาร เพราะอ่านสตรีสารมาตั้งแต่เด็ก ๆ”
ทรงเล่าต่อไปถึงที่มาของพระนามแฝง “แว่นแก้ว” ว่า “ชื่อ ‘แว่นแก้ว’ นี่ตั้งเอง เพราะตอนเด็ก ๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อแว่นแก้ว” ทรงบรรเลงระนาดเอก ศิลปะอย่างหนึ่งที่ทรงโปรดเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ การเล่นดนตรีไทย จึงได้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนในหมู่นักดนตรีไทยว่า ทรงเป็นมิ่งขวัญของดนตรีไทยโดยแท้ ภาพที่ประทับใจบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รักศิลปะดนตรีไทยทั่วไป ก็คือ ภาพจากจอโทรทัศน์ที่ได้เห็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงบรรเลงระนาดเอกร่วมกับวง ดนตรีอาวุโสเป็นวงหลัก ในรายการมหาดุริยางค์ เฉลิมพระเกียรติถวายพระพร ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๓๐ ทั่วประเทศเขตนิคมจึงกระหึ่มไปด้วยเสียงเสนาะอันแว่วหวานของดนตรีไทย ซึ่งโดยปราศจากสงสัย จุดเด่นของงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้นก็คือ เสียงอันระรื่นเป็นมนต์สะกด ประหนึ่งเสียงทิพย์จากสวรรค์ จากฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั่นเอง ทรงสักวา เรื่อง “สังข์ทอง” นับเป็นรายการสักวามหาพิเศษจริง ๆ เมื่อมีข่าวออกมาว่า ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา จ.นครปฐม ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ สมเด็จพระเทพฯ จะทรงสักวาเป็นรจนา ธิดาของท้าวสามลในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่ โดยมีนักกลอนอาวุโสของแผ่นดินรัชกาลนี้ ระดับบรมครูเข้าร่วมวงสักวาด้วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเริ่มต้นบทไหว้ครูว่าดังนี้ “สักวาไหว้ครูผู้สอนสั่ง ไหว้ทุกท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ (คนฟังหัวเราะ) ล้วนแต่เป็นนักปราชญ์จอมกวี อาวุโสศักดิ์ศรีเป็นอาจารย์ ไม่เคยเล่นสักว่าข้าอ่อนหัด กลอนติดขัดจงช่วยด้วยสงสาร มาวันนี้หวังให้ใจเบิกบาน คุณครูท่านโปรดสงเคราะห์ให้เหมาะเอย” พระอารมณ์ขันและความเป็นกันเอง คราวหนึ่ง ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงแวะประทับค้างคืนที่หน่วยราชการแห่งหนึ่ง ซึ่งทรงคุ้นเคยกับบรรดาพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะได้เคยเสด็จไปประทับที่นั่นมาสามสี่ครั้งแล้ว คราวนี้ทางหน่วยราชการมีเวลาเตรียมตัวรับเสด็จค่อนข้างนาน จึงเตรียมต้นไม้ไว้ให้ทรงปลูก อันเป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย เท่ากับเป็นการเน้นให้ประชาชนได้รู้สึกถึงคุณค่าของต้นไม้ ต้นไม้ที่หน่วยราชการแห่งนั้นจัดเตรียมไว้ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูกคือ ต้นส้มโอ สมเด็จพระเทพฯ รับสั่งด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มสดชื่นว่า “นี่คงจะเห็นฉันอ้วนตุ๊สมเป็นส้มโอล่ะซี...” ท่านผู้อำนวยการหน่วยงานรีบกราบบังคมทูลว่า “พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมให้ทรงปลูกส้มโอ ก็เพราะชาวบ้านอำเภอนี้ถือว่าส้มโอ คือ บ่อเงินบ่อทองพะย่ะค่ะ...ปี ๆ หนึ่งทำเงินเป็นสิบ ๆ ล้าน ขึ้นชื่อว่าส้มโอจังหวัดไหน ๆ ก็สู้ของที่นี่ไม่ได้ เป็นสมบัติล้ำค่าทางการเกษตรพะย่ะค่ะ...ก็อยากให้พระบารมีคุ้มเกล้าฯ อย่าให้ส้มโอที่อื่นมาแย่งเอาตำแหน่งยอดส้มโอไปจากที่นี่พะย่ะค่ะ” รับสั่งต่อด้วยอารมณ์ขันว่า “รับรองต้องตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเหมือนคนปลูก” พระดำรัสประโยคนั้นรู้กันไปทั่วทั้งจังหวัด คุณลุงคุณป้า คุณย่าคุณยายน้ำหูน้ำตาไหล ปิติปลาบปลื้มว่าทรงเป็นกันเองกับชาวบ้านจริง ๆ ไม่ถือพระองค์เลย และทรงมีอารมณ์ขันอย่างนึกไม่ถึง ยังเล่าขานกันต่อมาอีกหลายปี เพราะเมื่อใครไปเห็นต้นส้มโอนั้น เจ้าหน้าที่ผู้รักษาดูแลก็จะเล่าให้ฟังด้วยความชื่นชมโสมนัสและซาบซึ้งในพระเมตตาคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอย่างไม่เสื่อมคลาย “เคยมีโปรเฟสเซอร์จากเทกซัส สหรัฐอเมริกา มาถามผมผู้ประมวลเรียบเรียงหนังสือเล่ม นี้ว่า เพราะเหตุใดสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงมีความเป็นเลิศในหลาย ๆ สาขาของวัฒนธรรม ทั้งทางดนตรี วรรณคดี และภาษาศาสตร์ ผมตอบโปรเฟสเซอร์คนนั้นไปว่า เป็นเพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้ความเป็นเลิศในสาขาต่าง ๆ มาทางสายเลือด กล่าวคือ เลือดของนักดนตรีนั้น ได้มาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เลือดของนักวรรณคดีนั้น ได้มาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เลือดของนักภาษาศาสตร์ ได้มาจากสมเด็จย่า ซึ่งทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหมดนี้ ได้มาผสมกันขึ้นเป็นองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ทรงฟื้นฟูอนุรักษ์จักสรรสร้าง เป็นแบบอย่างวัฒนธรรมดำรงให้ เห็นคุณค่าฝีมือบรรพชนไทย ด้วยหัวใจสืบสานงานของเรา ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยชั่วกาลนาน พรปวีณ์ ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง*สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ โดย วิลาศ มณีวัต และภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น