วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทุกข์ของชาวบ้าน พิหารแดง กรณีเงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ กว่า 6 ล้านหาย

ทุกข์ของชาวบ้าน พิหารแดง สุพรรณบุรี กรณีเงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ กว่า 6 ล้านบาทหาย ชาวบ้านตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี กว่า ร้อยคน เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับ สภ.เมือง สุพรรณบุรี กรณี เงินกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 6,278,085 บาท หายไปจากบัญชี ซึ่งเป็นเงินออมของสมาชิก จำนวน 988 ราย โดยมี นายอิทธิกร แจ่มแจ้ง เป็นแกนนำ งานนี้ ท่าน ผู้กำกับการ สภ.เมือง สุพรรณบุรี พ.ต.อ. เกรียงไกร วุฒิพานิช มารับเรื่อง ด้วยตนเอง พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานสอบสวน เร่งคลี่คลายเรื่องทุกข์ร้อนของชาวบ้าน พร้อมรับปากจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่จะต้องรอผลการสอบสวนก่อน
วันที่ 9 สิงหาคม 2556 เวลา 09.30 น. มีชาวบ้าน จาก ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี กว่า 100 คน มาชุมนุม ที่หน้า สภ.เมือง สุพรรณบุรี เพื่อเข้าแจ้งความร้องทุกข์ กรณี เงินกองทุนของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งตั้งขึ้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 จนถึง ปัจจุบัน กว่า 15 ปี มีสมาชิก จาก 4 หมู่บ้าน ของตำบลพิหารแดง เข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 988 คน มีเงินสะสม จากสมาชิก จำนวน 6,278,085 บาท ได้หายไปจากบัญชี โดยไม่ทราบสาเหตุ ว่าหายไปได้อย่างไร และ เมื่อไร
พ.ต.อ. เกรียงไกร วุฒิพานิช พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษดา ดีลีพจนานันทน์ ผกก. พ.ต.ต.ประพันธ์ จำปานวน ได้ออกมาพบ ชาวบ้าน พร้อมให้จัดตัวแทน ประมาณ 20 คน เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สภ.เมืองสุพรรณบุรี เพื่อสอบถามถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และ จะได้หาทางดำเนินการ เพื่อหาข้อสรุปให้ต่อไป
นายอิทธิกร แจ่มแจ้ง ตัวแทนชาวบ้าน จาก หมู่ที่ 4 ต.พิหารแดง เล่าว่า พวกตนเข้าร่วมเป็นสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มาตั้งแต่ปี 2541 มีการออมเงิน และ นำเงินจากการออมมาให้สมาชิกที่มีความเดือดร้อน ด้านเงินลงทุน ทำการเกษตร กู้ไปใช้ได้ ประมาณ 80 % ของจำนวนเงินออมที่ออมไว้ และ กำหนดให้มีสมาชิก ด้วยกันเอง จำนวน 3 คน มาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งเป็นหลักการที่ดี เพราะชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก จะได้รู้จักการออมเงิน เมื่อถึงฤดูการผลิต หากเงินไม่พอ ก็สามารถมากู้เงินออมของตนเองไปใช้ได้ใน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็นำเงินมาชำระคืน ทำกันมาจน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลพิหารแดง ประสบความสำเร็จได้รับรางวัล กองทุนดีเด่นของกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2551 เหตุที่ตนและเพื่อนสมาชิกมาร้องทุกข์ครั้งนี้ เพราะจากการตรวจสอบบัญชี พบว่าเงินออมในบัญชีของกลุ่ม ณ ปัจจุบัน ตัวเลข คงเหลือเพียง 7,300.48 บาท เท่านั้น ไม่ทราบว่าเงินหายไปไหน
นางอารมณ์ เสร็จจัก ตัวแทนชาวบ้าน จาก หมู่ที่ 3 ต.พิหารแดง เล่าว่า หมู่บ้านของตนมีชาวบ้านมาเข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 188 คน เพราะเห็นประโยชน์ จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เพราะ ทางกลุ่มมีการรับฝากเงินสัจจะ – เงินฝากพิเศษ ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ปล่อยเงินกู้ประเภทสามัญ ไม่เกิน 20,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ส่งดี เฉลี่ยคืน 0.25 บาท ต่อเดือน จำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับสมาชิก พร้อมจ่ายปันผล ร้อยละ 2 จำหน่าย ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ข้าวปลูก สมาชิกได้เครดิต 4 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาท ค่าดำเนินการสั่งลูกละ 5 บาทปันผลร้อยละ 2 สมาชิกมีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกสวัสดิการผู้เสียชีวิต ของชมรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต อำเภอเมือง เมื่อสมาชิกเสียชีวิตเพื่อนในกลุ่มจะหักเงินสัจจะคนละ 20 บาท ช่วยงานศพ หรือคนในครอบครัวเสียชีวิต จะได้รับพวงหรีตจากทางกลุ่ม สวัสดิการสุขภาพ เบิกได้วันละ 50-200 บาทไม่เกิน 5 วัน นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังจัดให้มี กิจกรรมวันปีใหม่ วันเด็ก วันผู้สูงอายุ ทุนการศึกษา และ พ.ร.บ.รถ ฯลฯ
นางสมควร รุ่งทอง ตัวแทนชาวบ้าน อีกผู้หนึ่ง ให้ข้อมูลว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลพิหารแดง หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า องค์กรการเงินชุมชน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ เลขที่ 128 หมู่ที่ 6 บ้านดอนแค อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 035-555578 , 089-8866705 ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2541 มีนายธงชาติ จุลโพธิ์ พัฒนาการอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ประสานในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ มีสมาชิกก่อตั้งแรกเข้า จำนวน 109 คน มีเงินฝากสัจจะ 9,950 บาท เมื่อปี 2551 กลุ่มมีการพัฒนาและเจริญเติบโตขึ้น มีสมาชิกเพิ่มขึ้น เป็น 1132 คน มีเงินฝากสัจจะ 4,203,800 บาท มีเงินฝากพิเศษ 728,577 บาท รวมเป็นเงิน 4,932,377 บาท คณะกรรมการก่อตั้งชุดแรก ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก อ.บ.ต. ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ หลังการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ยังได้มีการก่อตั้งศูนย์สาธิตการตลาดขึ้น ที่หมู่ 6 บ้านดอนแค โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กรมการพัฒนาชุมชน ในการก่อสร้างอาคารศูนย์สาธิต และเปิดให้บริการแก่สมาชิก เมื่อ 23 ตุลาคม 2541
ปัจจุบัน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มีคณะกรรมการ อำนวยการ ประกอบด้วย นายดำรง เลิศทัศนวนิช เป็น ประธานฯ นายสมพล แป้นแจ้ง เป็นรองประธานฯ นางสิงหา คุ้มบุญ เป็น เหรัญญิก นายสมยศ ชำนาญศรี เป็น เลขานุการ คณะกรรมการ ฝ่ายเงินกู้ มี นายวิโรจน์ คุ้มบุญ เป็นประธานฯ นส.กนกวรรณ พลายมี เป็น เลขานุการ คณะกรรมการ ฝ่ายตรวจสอบ ประกอบด้วย นายประสาน พรมศรี เป็น ประธานฯ นางสมบุญ คงสกุล เป็นเลขานุการ คณะกรรมการ ฝ่ายส่งเสริมฯ ประกอบด้วย นางพัชราภรณ์ ไวถนอมทรัพย์ เป็น ประธานฯ นางจารุพัฒน์ พิลึก เป็น กรรมการ นางชำนาญ เกิดสกุล เป็น กรรมการ นส.ละมัย จิตต์ใจดี เป็น เลขานุการ คณะกรรมการ ฝ่ายต้อนรับ ประกอบด้วย นางวัน คงสกุล เป็น ประธานฯ นางยอดขวัญ เดชบุญ เป็น กรรมการ ผู้ดำเนินการ ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านดอนแค ประกอบด้วย นายดำรง เลิศทัศนวนิช เป็น ผู้จัดการ นางสิงหา คุ้มบุญ เป็น ผู้ช่วยผู้จัดการ นส.กนกวรรณ พลายมี เป็น พนักงานบัญชี นางยอดขวัญ เดชบุญ เป็น พนักงานบัญชี
ด้าน พ.ต.อ.เกรียงไกร วุฒิพานิช ผกก.สภ.เมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า จากที่ได้รับฟังข้อมูลในเบื้องต้น ตนเห็นว่า เรื่องราวค่อนข้าง ไม่สลับซับซ้อนมากนัก แต่ต้องดำเนินการสอบสวน ในรายละเอียด เพื่อหาข้อเท็จจริง ก่อนว่า ที่ว่า เงินหายไป นั้น ที่จริง เงินอยู่ที่ไหน อาจไปอยู่กับ ผู้กู้ก็ได้ ซึ่งทาง ตำรวจจะได้ แต่งตั้ง คณะทำงาน เพื่อดำเนินการ หาข้อเท็จจริงให้ได้ว่า เงินของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลพิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี อยู่ที่ไหน และ อยู่อย่างไร โดย ในเบื้องต้น จะออกคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.ต.ประพันธ์ จำปานวน เป็นหัวหน้าทีม พนักงานสอบสวน ดำเนินการ สอบสวน ผู้เสียหาย ทั้ง 988 ราย ซึ่งคงต้องอาศัย ผู้ประสานงาน ในแต่ละหมู่บ้าน ช่วยนัดหมาย ในการมาให้ปากคำ ข้อมูล ข้อเท็จจริง ทั้งหมด และ จะได้เชิญ คณะกรรมการ บริหาร กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลพิหารแดง มาให้ข้อมูล ต่อไป
ด้าน อำเภอเมือง สุพรรณบุรี นายธัชทร ใจรอบคอบ ปลัดอำเภอฯ ได้รับมอบหมาย จาก นายทวีชัย พลายชุมพล นายอำเภอเมือง สุพรรณบุรี ให้เข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง และ รายงานให้ทางผู้ใหญ่ทราบต่อไป สำหรับ หน่วยงาน พัฒนาชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี ไร้เงาผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการประสาน แจ้งว่า หัวหน้าฟ้า พัฒนากร ผู้รับผิดชอบกลุ่ม ติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ท่านเสน่ห์ บุญสุข พัฒนาการจังหวัดฯ คงต้องส่งเจ้าหน้าที่ มาทำความเข้าใจ กับ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม ในเรื่อง ที่กลุ่ม ไม่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย ว่าเป็นเพราะเหตุใด ในเมื่อ ทางพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มาทำหน้าที่ ประสานงานในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ ขึ้นด้วยตนเอง
บทสรุปของเรื่องนี้ จึงอยากฝากเป็น อุทาหรณ์ สอนใจ ตามที่ท่าน ผุ้กำกับ เมืองสุพรรณบุรี พ.ต.อ.เกรียงไกร วุฒิพานิช ได้พูดในที่ประชุมว่า ก็เงินของพวกเราเองทั้งนั้น เวลาประชุมประจำเดือน ทำไมไม่ตรวจสอบกันให้ถูกต้องว่า เงินเอาไปทำอะไรบ้าง เหลืออยู่เท่าไหร่ ตรงกับบัญชีหรือไม่ ถ้าตรวจสอบกันเป็นประจำ หายเมื่อไร ก็รู้ แต่เรื่องนี้ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็มาตกอยู่กับ ชาวบ้าน วันยังค่ำ คงต้องฝาก หน่วยงาน ภาครัฐ ที่รับผิดชอบ ว่า ทุกเรื่องราว ต้องทำให้ถูกต้อง โปร่งใส ตรงไปตรงมา เราต้องเป็นที่พึ่งของชาวบ้านให้ได้ ชวนพวกเขาตั้งกลุ่ม ก็ต้องให้จดทะเบียนให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย การดำเนินงาน ของคณะกรมการบริหาร ก็ต้องอยู่ในสายตาเรา ต้องเป็นหูเป็นตา แทนชาวบ้านเขา เพราะเราเป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องถือเป็นผู้กำกับดูแล งานเหล่านี้ หากละเลย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ก็กลายเป็นความเดือดร้อน กับคนหมู่มาก ก็ภาวนา ขอให้เรื่องนี้ ได้บทสรุป ที่เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ก็แล้วกัน
เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณอินชัวร์ดอทคอม rewet.noyvijit@hotmail.com 081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น