วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บางปลาม้า รับรางวัล โล่พระราชทาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ฯ



ความภาคภูมิใจ ของคนสุพรรณ กับ รางวัลโล่พระราชทาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “ อยู่เย็น เป็นสุข ” ดีเด่น จังหวัดสุพรรณบุรี 6 ปีซ้อน ที่อำเภอบางปลาม้า




อำเภอบางปลาม้า เป็นอำเภอหน้าด่าน ของจังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ ติดแม่น้ำท่าจีน หรือ แม่น้ำสุพรรณ มีประเพณีวัฒนธรรม เก่าแก่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนมากมาย ทั้ง ประเพณีงานบุญเข้าพรรษา งานแห่เทียน ประเพณีตักบาตรกลางน้ำ งานแข่งเรือยาวประเพณีชิ้งถ้วยพระราชทานฯ งานบุญบั้งไฟ ของชาวไทยพวน ฯลฯ




           นายประพันธ์ บุญคุ้ม นายอำเภอบางปลาม้า เปิดเผยว่า .. ตนเองเข้ามารับตำแหน่งนายอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ วันที่ 8 มกราคม 2550 ได้เห็นวิถีชีวิต ของคนในลุ่มน้ำท่าจีน ที่ อำเภอบางปลาม้า ก็รู้สึกนิยมชมชอบ ว่าคนที่นี่ มีอะไรที่น่าสนใจ น่าศึกษา มากมาย วิถีชีวิตของคนบางปลาม้า เป็นวิถีชีวิตที่อยู่กันแบบพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ เข้ากับ หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงท่าน ตนจึงมีแนวคิดอยากนำโครงการ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “ อยู่เย็น เป็นสุข ” ของในหลวงท่าน มาใช้กับชาวบ้านที่ บางปลาม้า






             โครงการ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “ อยู่เย็น เป็นสุข ” เป็นโครงการที่มุ่งเน้น เสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร เครือข่าย เพื่อนำพาให้ชุมชนของตนเอง “ อยู่เย็น เป็นสุข ” พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเข้ากับหลักการ “ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ” ของในหลวงท่าน โดยกำหนดตัวชีวัดมาตรฐาน 6 ตัวหลัก ได้แก่ 1 การลดรายจ่าย 2 การเพิ่มรายได้ 3 การประหยัด 4 การเรียนรู้ 5 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และ 6 การเอื้ออารีย์ต่อกัน




             นอกจากนี้ ที่อำเภอบางปลาม้า ยังได้ผนวก นำหลักการ โครงการคนดีศรีสุพรรณ ซึ่งมีตัวชีวัด 11 เป้าหมาย มาประยุกต์รวมเข้าใช้ด้วยกัน ได้แก่ 1 การรักษาความสะอาดของบ้านเรือนและชุมชน 2 มีจิตสำนึกและร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3 มีวิถีประชาธิปไตย 4 เป็นผู้ประหยัดออมและนิยมไทย 5 ปฏิบัติตามหลักเบญจศิล เบญจธรรม หรือ หลักธรรมของศาสนาอื่นที่นับถือ 6 เป็นผู้มีมารยาทไทย 7 มีวินัยจราจร 8 เป็นคนตรงต่อเวลา 9 ปฏิบัติตนในการเข้าแถวเรียงลำดับก่อนหลัง ในการเข้ารับบริการ 10 ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับของกลุ่ม โดยเคร่งครัด และ 11 ไม่พัวพันยาเสพติดเข้ามาผนวกรวมเข้ากับโครงการ เศรษฐกิจพอเพียง " อยู่เย็น เป็นสุข " อีกด้วย





            อยู่ดีกินดี ตามวิถีพอเพียง | สายสวรรค์ ขยันยิ่ง คุณสายสวรค์ ขยันยิ่ง ผู้สื่อข่าว ทีวีสี ช่อง 3 คือ อีกผู้หนึ่ง ที่เข้ามาเยี่ยมชมโครงการ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ อำเภอบาปลาม้า เธอบอกว่า .. โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘โครงการอยู่ดีมีสุข’ เป็นโครงการซึ่งเน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมุ่งให้ประชาชนและครอบครัวสามารถพึ่งตนเองได้ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในทุกๆกิจกรรม





            ในวันนี้เราจะพาไปสัมผัสกับวิถีชุมชนซึ่งเรียบง่ายภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือที่เรียกกันว่าโครงการอยุ่ดีมีสุข บ้านหมี่ตะลุ่ม หมู่ 7 ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมาที่นี่ที่เดียวก็จะได้สัมผัสโครงการดีๆมากมาย ได้แก่ โครงการกองทุนหมู่บ้าน ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับอำเภอต้นแบบเฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน(กศน.อำเภอบางปลาม้า) โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล โครงการหมู่บ้านเขียวขจีดีเด่นระดับจังหวัดปี 2553 และโครงการอยู่ดีมีสุข โดยทุกโครงการที่ดิฉันกล่าวมาอยู่ในบริเวณเดียวกันหมดเลย พื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ถูกแบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกผักสวนครัวและไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ บ่อเลี้ยงปลา สนามกีฬา ศูนย์ประชุมหมู่บ้านและพื้นที่สาธิตทำปุ๋ยหมัก






             จากการเดินชมศูนย์การเรียนรู้ในวันนี้ทำให้ดิฉันรู้ว่าการเป็นนักปกครองที่ดีคือ การทำให้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐงอกเงยและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ที่นี่มีพื้นที่ไม่มากแต่สามารถรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีประโยชน์ไว้ได้ครบถ้วน จุดนี้ทำให้ดิฉันเห็นถึงความสามารถของผู้ใหญ่บ้านที่สามารถแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ได้อย่างลงตัว ก้าวแรกเมื่อลงจากรถตู้ตอนนั้นเวลาประมาณบ่ายสามโมง ฉันตื่นเต้นกับศูนย์การเรียนรู้ที่นี่เพราะฟังจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านว่า มีอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ลึกๆในใจก็แอบคิดว่าจะจริงหรือ ที่ที่เดียวจะรวมทุกอย่างไว้ได้จริงหรือ แต่ก็เป็นไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใหญ่บอกมีอยู่จริง จุดแรกที่ไปดูคือป้ายประกาศเกียรติคุณหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะเรียงรายกันถึง 5 ป้ายอยู่หน้าศูนย์ฯ ถัดเข้าไปจะเป็นสนามฟุตบอลของหมู่บ้าน ฉันหันไปถามผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่นำชมว่า “ ทำไมไม่มีคนเล่นเลยคะ” เขาตอบฉันว่า “เพราะยังไม่เย็นครับ คนเตะบอลเขารอแดดร่มจะได้ไม่ร้อนมากครับ” หากเดินต่อไปอีกนิดด้านหลังสนามฟุตบอลจะเป็นโรงเพาะเห็ดนางฟ้าที่ออกดอกบ้างไม่ออกบ้าง ถัดไปอีกจะเป็นเล้าเป็ดเล้าไก่ ฉันเห็นมันเดินขวักไขว่จิกอาหาร ที่พื้นก็มีไข่ของมันด้วย ถัดไปอีกเป็นบ่อปลา น้ำในบ่อนี้จะถูกใช้ตักมารดผักสวนครัว เขยิบไปอีกหน่อยจะเป็นแปลงปลูกผักสวนครัว ที่เห็นก็มีมะนาว พริกขี้หนู ใบกระเพรา ตะไคร้ ก็จำพวกผักที่ปลูกง่ายๆนั่นแหละ ซึ่งผู้ใหญ่บอกไว้ว่าผักพวกนี้ถ้าใครอยากกินก็สามารถเก็บไปกินได้เลย เพราะคนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน จากการสมัครสมาชิกในราคาหุ้นละ 100 บาท ต่อไปผู้ช่วยพาฉันไปดูหมูหลุม ระหว่างทางเป็นแนวทิวไผ่ ว้าว!มีหน่อไม้ด้วย บริเวณนี้ลมเย็นมาก ถึงแล้วเล้าหมูหลุมแต่น่าเสียดายที่เขาจับหมูไปแล้ว เลยเหลือแต่เล้าที่เต็มไปด้วยดินผสมขี้หมู ผู้ช่วยอธิบายต่อว่าดินนี้อุดมสมบูรณ์มากเพราะมาจากเศษผักที่ใช้เลี้ยงหมูกับขี้หมู ดินนี้เราจะตักไปใช้ปลูกต้นไม้ซึ่งทำให้ต้นไม้โตเร็วมาก สุดท้ายเราจะไปชมปุ๋ยหมักชีวภาพ ฉันเดินผ่านอาคารไม้สองชั้นใต้ถุนโล่งหลังหนึ่งด้วย ป้ายเขาเขียนว่า “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน(กศน.อำเภอบางปลาม้า)” พื้นที่ชั้นบนใช้เรียน แต่ชั้นล่างใช้ประชุมและสาธิตความรู้ใหม่ๆของคนในชุมชน ฉันรู้เพราะภาพถ่ายที่ถูกติดไว้บนกระดาน ฉันเดินต่อไปนิดเดียวก็พบถังปุ๋ยหมักเกือบ10 ถัง เรียงใต้ถุนอาคารอีกหลังหนึ่ง “ขออนุญาตเปิดดูได้ไหมคะ” ฉันถามผู้ช่วย เขาพยักหน้าพร้อมกับตอบว่า “ได้ครับ” ฉันไม่รีรอ เปิดทันที แว๊บแรกของความรู้สึกที่ได้กลิ่น “โอ้ว!พระเจ้า” เกินจะบรรยายจริงๆ มีหนอนด้วยตัวเล็กกว่านิ้วก้อยหน่อยนึง ฉันรีบปิดอย่างรวดเร็ว ผู้ช่วยหัวเราะฉัน นอกจากนี้พื้นที่ด้านหน้าสุดของศูยน์ยังมีอาคารปูนชั้นเดียวเป็นพื้นที่แสดงผลงานและรางวัลที่หมู่บ้านนี้เคยได้รับอีกด้วย น่าเสียดายนะคะที่วันนี้มาแต่ไม่ได้เห็นชาวบ้านทำสินค้าโอทอปที่ดัดแปลงจากสมุนไพรในท้องถิ่น เพราะการทำสินค้าแต่ละล็อตต้องมีใบสั่งของลูกค้าก่อน แล้วชาวบ้านก็จะมารวมตัวทำกันที่นี่





             การได้มาที่นี่ในวันนี้เพียงสองชั่วโมงช่างคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เพราะถือเป็นขุมทรัพย์ทางอาชีพ ทรัพยากร และปัญญา สิ่งดีๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดผู้นำที่ดีและมีวิสัยทัศน์อย่างผู้ใหญ่สุมิท โสมภีร์ ผู้ใหญ่บ้านหมี่ตะลุ่ม หมู่ 7 ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี สุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใดที่คนไทยทั้งชาติอยู่ในแผ่นดินนี้อย่างมีความสุขก็ด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงเป็นผู้นำ เป็นพ่อ เป็นครู เป็นนักคิด เป็นนักปราชญ์ เป็นอัจฉริยะในทุกๆด้าน ที่ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่แก่ชาวไทย : สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ข่าว 3 เรื่อง : วิรงรอง พรมมี ภาพ : พงษ์พันธ์ พวงพิลา






            วันนี้ การได้รับรางวัล โล่พระราชทาน จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ฯ ถึง 6 ปีซ้อน คือ เครื่องยืนยัน ถึงความสำเร็จของ แนวคิดหลัก “ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระกรุณา ประทานต่อ พสกนิกรชาวไทย และ ความสำเร็จของโครงการ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “ อยู่เย็น เป็นสุข ” ของอำเภอบางปลาม้า ก็ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่ง ที่ นายประพันธ์ บุญคุ้ม นายอำเภอบางปลาม้า และ พี่น้อง ชาวบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ทุกคน ภาคภูมิใจ และ ทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงห่วงใย ต่อพสกนิกร ชาวไทย ทั่วทุกถิ่นฐาน ในทุกอนาเขต ของประเทศไทย ..
















          เรวัติ น้อยวิจิตร สุพรรณอินชัวร์ดอทคอม เรื่อง / ภาพ rewet.noyvijit@otmail.com 081-9107445 ข้อมูล ข่าวเพิ่มเติม - รายงานพิเศษ : บางปลาม้า คว้าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 6 ปี ... http://www.naewna.com/local/62195 “บางปลาม้า” รับรางวัล 6 ปีซ้อน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ... http://www.naewna.com/local/58531 อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข 6 ปี ซ้อน http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TNPBH5607060010004 อยู่ดีกินดี ตามวิถีพอเพียง http://www.saisawankhayanying.com/s-style/bang-pla-ma/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น